มีคนถามผมว่า ประชากรมุสลิมในประเทศไทยมีเท่าใด ผมตอบว่า ประมาณ 10% หรือ 6.5 ล้านคน ในกรุงเทพฯมีมุสลิมประมาณ 6 แสนคน ส่วนใหญ่มุสลิมจะอยู่ในเขตตะวันออกของกรุงเทพฯ เฉพาะหนองจอกเพียงเขตเดียวมีมัสยิดมากถึง 44 แห่ง ในเขตมีนบุรี ลาดกระบัง และคลองสามวารวมกันทั้ง 3 เขตมี 29 แห่ง ทั้งกรุงเทพฯมีมัสยิดจดทะเบียนทั้งหมด 175 แห่ง
ผู้ที่จดทะเบียนเป็นสมาชิกของมัสยิดเราเรียกว่าสัปปุรุษ ในแต่ละมัสยิดจะมีอิหม่าม คอเตบ และบิหลั่น
อิหม่ามคือ ผู้นำที่ทำหน้าที่นำทั้งการปกครอง การบริหารชุมชนมุสลิมที่มีมัสยิดเป็นศูนย์กลาง นอกจากนั้น ยังหมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่นำในการละหมาดรวมกันหลายคน อิหม่ามมาจากการเลือกตั้งจากสัปปุรุษ หรือสมาชิกของมัสยิดนั้นๆ
ส่วนคอเตบ หรือคอฏีบ ก็คือผู้กล่าวคุฏบะฮฺ เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นในประเทศไทย เพราะที่อื่นหน้าที่กล่าวคุฏบะฮฺมักจะเป็นของอิหม่าม
ทุกมัสยิดจะมีกรรมการมัสยิด 12 คน วาระ 4 ปี หนึ่งคณะกรรมการประจำมัสยิดของไทยมีหน้าที่อะซาน หรือทำหน้าที่ประกาศให้สมาชิกมัสยิดทราบว่าเข้าสู่เวลาละหมาดแล้ว
ผู้อ่านท่านที่เคารพ จังหวัดใดในประเทศไทยที่มีมัสยิดจดทะเบียน 3 แห่งขึ้นไป ก็จะสามารถเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ วาระของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดคือ 6 ปี จังหวัดที่เพิ่งมีมัสยิดครบ 3 แห่งและเพิ่งมีการเลือกตั้งไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็คือ ขอนแก่น ชัยภูมิ แม่ฮ่องสอน และเพชรบูรณ์
ประเทศไทยมีจังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 39 แห่ง เมื่อเลือกตั้งไปแล้ว 4 จังหวัด ก็ยังเหลือจังหวัดที่จะมีการเลือกคณะกรรมการฯ ในเวลา 09.00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2554 อีก 35 จังหวัด
จังหวัดที่มีมัสยิด 3-5 แห่ง จะมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้ 9-15 คน จังหวัดที่มี 51-99 มัสยิด มีกรรมการได้ไม่เกิน 21 คน และจังหวัดที่มีมากกว่า 100 มัสยิด มีกรรมการได้ 30 คน
Voters หรือผู้ที่จะเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดก็คือ อิหม่ามของมัสยิดจดทะเบียน กรุงเทพฯมี 175 มัสยิด ในวันพฤหัสบดีที่จะถึง อิหม่าม 175 คนจึงจะไปที่อาคารกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เพื่อเลือกกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร 30 คน
คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแบบที่จะเลือกกันในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี่แหละครับ จะต้องเลือกประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขึ้นมา 1 คน และเลือกผู้แทนจังหวัดไปเป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยอีกจังหวัดละ 1 คน
กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจึงมาจากกรรมการประจำอิสลามประจำจังหวัด 39 คน + บัญชีของจุฬาราชมนตรีอีก 1/3 หรือ 13 คน + จุฬาราชมนตรี 1 คน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจึงมีทั้งหมด 53 คน
ส่วนจุฬาราชมนตรีมาจากการเลือกของกรรมการอิสลามประจำจังหวัดซึ่งมีประมาณ 700 กว่าคนทั่วประเทศ
ในสังคมมุสลิมไทย มีผู้นำสังคมแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ผู้นำด้านการบริหาร และผู้นำด้านวิชาการ ผู้นำด้านบริหารในสังคมมุสลิมไทยมี 3 ระดับ ระดับพื้นที่ก็คือ อิหม่ามมัสยิด ที่มีคณะกรรมการมัสยิดร่วมเป็นองค์คณะ ระดับจังหวัดก็คือ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด โดยมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดร่วมเป็นองค์คณะ และระดับประเทศก็คือ จุฬาราชมนตรี ที่มีคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยร่วมเป็นองค์คณะ
ผู้นำด้านวิชาการก็ได้แก่ ผู้รู้ทางศาสนาที่มีกระจายอยู่ทั่วไปในสังคมมุสลิมไทย ผู้รู้บางคนมีลักษณะการนำที่เด่นมาก มีคนตามเป็นจำนวนมาก ผู้รู้บางคน รู้วิชาการอย่างเดียว แต่ไม่มีลักษณะผู้นำ ทำหน้าที่สอนอบรมเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีผลงานประเภทริเริ่มสร้างสรรค์ จึงไม่มีผู้ตามเป็นกลุ่มเป็นก้อน
คอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลกฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม 2540 หรือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว คุณนิติภูมิ พ่อของผม เขียนเรื่องของอิหม่ามมัรวาน (วินัย) สะมะอุน อิหม่ามประจำมัสยิดกมาลุลอิสลาม แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ที่เป็นทั้งผู้รู้ทางด้านวิชาการและเป็นผู้ที่มีลักษณะการนำที่เด่นชัดมาก จนมีผู้ตามเป็นจำนวนมาก บริหารมัสยิดจนเป็นมัสยิดดีเด่นของ กทม. เคยเป็นรองประธานและเลขาธิการกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฯลฯ
ผมได้รับอีเมล์จากอิหม่ามฆอซี ซำซุดดีน (วุฒิวัย หวังบู่) อิหม่ามมัสยิดอิดด์ฮาร์ดอุลูมุดดีน เขตมีนบุรี กทม. นายกสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ว่าปีนี้
อิหม่ามผู้ทรงคุณวุฒิและบุคคลผู้มีประสบการณ์ในสังคมมุสลิมของกรุงเทพฯ จำนวนมากไปขอให้อิหม่ามมัรวาน สะมะอุน มาเป็นผู้นำทีมพัฒนาสังคมมุสลิมกรุงเทพมหานคร และบั้นปลายท้ายที่สุด ต้องการให้ท่านเป็นประธานกรรมการอิสลามกรุงเทพมหานคร ซึ่งท่านก็ยินดีที่จะมาร่วมทำงาน
ในอดีต ผมเคยพบอิหม่ามมัรวานหลายครั้ง ทั้งที่บ้านของผมที่กรุงเทพฯ และในสถานที่อื่นๆ ผมมีความเชื่อมั่นในตัวท่านทั้งด้านวิชาการและผู้นำ
ผมเชื่อว่าถ้าอิหม่ามมัรวานเป็นประธานกรรมการอิสลามกรุงเทพมหานคร สังคมมุสลิมในกรุงเทพฯ จะเข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเยอะ.
...
คุณนิติ นวรัตน์