แม่น้ำห้วยหนองคลองบึงสำคัญ ในบ้าน เมืองเรา ล้วนมีที่มาจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ เวลาผ่านมาเนิ่นนาน คนโบราณก็มักผูกเรื่องเล่าเป็นตำนาน ให้ลูกหลานฟัง ตัวอย่างจากตำนานการกำเนิดหนองหาน จังหวัดสกลนคร

รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ เล่าไว้ในหนังสือ สำนวน ลำนำ ตำนาน 4 ภูมิภาค (สำนักพิมพ์บริษัทเรือนปัญญา) เริ่มต้นตำนานว่า พระยาขอมเมืองเอกฮีตา มีพระธิดาซึ่งเลิศด้วยความงาม ชื่อนางไอ่คำ เรียกสั้นกันว่านางไอ่

พระยาขอมออกประกาศ หากเจ้าเมืองเมืองใด ทำบั้งไฟยิงได้สูงกว่าเจ้าเมืองอื่น จะได้นางไอ่ไปเป็น ชายา พร้อมแบ่งเมืองเอกฮีตาให้ครอบครองกึ่งหนึ่ง

ท้าวผาแดงแห่งเมืองผาโพง เตรียมทำบั้งไฟ ไปแข่งแต่เกิดอุปสรรคในการเดินทาง ขบวนท้าวผาแดง มาถึงเมืองเอกฮีตาช้ากว่าวันแข่ง ซึ่งผลปรากฏแล้วว่าบั้งไฟ เมืองสีแก้วและเมืองหงส์สูงเท่ากัน เอาชนะกันไม่ได้เด็ดขาด ประกอบกับสองเมืองนี้ คนละเผ่าพันธุ์กับเมืองเอกฮีตา พระยาขอมจึงบิดพลิ้วไม่ยอมยกพระธิดาให้

สองเจ้าเมืองยกขบวนกลับเมืองไปด้วยความโกรธแค้น

ช่วงเวลานี้ ท้าวผาแดงก็มาถึงเมืองเอกฮีตาพอดี เมื่อพบนางไอ่ ก็เกิดจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ ลักลอบได้เสียกัน ท้าวผาแดงให้สัญญา เมื่อกลับถึงเมืองผาโพง จะยกขบวนเครื่องบรรณาการ มาแสดงความอ่อน น้อมพระยาขอม พร้อมกันก็จะจัดขบวนขันหมาก มาสู่ขอนางไอ่เป็นชายาตามประเพณี

กล่าวถึงท้าวภังคี โอรสพระยาสุทโธนาคราชแห่งเมืองบาดาล ได้ขึ้นมาท่องเที่ยวในเมืองมนุษย์ เมื่อมาพบนางไอ่ก็เกิดความเสน่หารักใคร่ จึงแปลงกายเป็นกระรอกเผือก ผูกกระดิ่งเงินที่คอ เวลากระรอกวิ่งจะเกิดเสียงไพเราะ เรียกความสนใจจากนางไอ่ แล้วกระรอกเผือกก็ไปโลดแล่น อยู่ในอุทยานเมืองเอกฮีตา เพื่อหาโอกาสใกล้ชิดกับนางไอ่

เป็นไปตามที่ท้าวภังคีคาด นางไอ่เห็นกระรอกเผือก ก็ชอบใจ สั่งทหารให้จับเอามาเลี้ยง แต่ทหารไม่สามารถจับกระรอกเผือกได้ ต้องไปขอให้พรานป่ามาช่วย พรานป่าพยายามจับเป็น แต่ก็จับไม่ได้ สุดท้ายก็ใช้วิธีจับตาย เมื่อกระรอกเผือกเร่เข้าแอบดูนางไอ่ ก็ใช้ลูกดอกอาบยาพิษยิงใส่ท้าวภังคี

...

โอรสพระยานาคเจ้าเมืองบาดาล ดิ้นรนด้วยความเจ็บปวด ก่อนตายได้สาปแช่งว่า ขอให้เนื้อของตัวเพิ่มปริมาณมากขนาดคนทั้งเมืองกินไม่ หมด และทุกคนที่กินเนื้อตัว ต้องถึงแก่ความตาย

ทหารนำกระรอกเผือกไปชำแหละกินเนื้อ แต่เกิดเหตุประหลาด เนื้อกระรอกเผือกเพิ่มปริมาณมากมาย จนคนทั้งเมืองกินไม่หมด ยกเว้นคนเดียวคือหญิงม่าย ทหารอ้างว่า สามีนางตายไปนาน ตัวนางเองก็ไม่ได้รับ ราชการเป็นคุณแก่บ้านเมือง จึงไม่ยอมแจกเนื้อกระรอกให้

ขณะคนเมืองสนุกสนานกับการกินเนื้อกระรอกเผือก ท้าวผาแดงก็ยกขบวนมาถึงเมืองเอกฮีตา ท้าวผาแดงรู้ดีว่า เนื้อกระรอกเผือก คือเนื้อโอรสพระยานาค เมื่อรู้ว่านางไอ่ก็กินเนื้อกระรอกเผือกเข้าไปด้วย ท้าวผาแดงรู้ว่าเภทภัยจะมา รีบพานางไอ่ขึ้นม้า ควบออกนอกเมือง

พระยาสุทโธนาคราช เมื่อทราบว่าพระโอรสถูกฆ่า ก็ทะยานจากเมืองบาดาลสำแดงฤทธิ์ พ่นน้ำถล่มเมืองเอกฮีตา ทั้งไล่ฆ่าชาวเมืองทุกคน ผลปรากฏว่าเมืองเอกฮีตาจมอยู่ในหนองน้ำใหญ่ มาถึงทุกวันนี้ หนองแห่งนี้ ถูกเรียกว่า หนองหาน

กล่าวถึงท้าวผาแดง ควบม้าพานางไอ่หนีไปอย่างรวดเร็ว แต่กระนั้นก็ถูกพระยานาคเลื้อยไล่ตาม หลังไปติดๆ ฤทธิ์แค้น พระยานาคตวัดหางรวบนางไอ่จากหลังม้า ลากจมหายลงไปในเมืองบาดาล ส่วนท้าว ผาแดง ไม่ได้กินเนื้อกระรอกเผือก จึงรอดชีวิตไปได้

ส่วนหญิงม่าย ไม่ได้กินเนื้อกระรอกเผือก กลายเป็นคนเคราะห์ดี รอดชีวิตหนีไปตั้งหลักได้ บนที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงแห่งหนึ่ง ที่ดอนแห่งนั้น วันนี้อยู่ในอำเภอกุมภวาปี เรียกกันว่า ดอนแม่ม่าย

ตำนานเรื่องเล่าท่วงทำนองเดียวกันนี้ ผู้เล่ามีเป้าหมายผูกเรื่องให้ยึดโยงกับสถานที่ที่มีอยู่แล้ว แต่กระนั้นก็ยังไม่ทิ้งประเด็นให้เห็นเค้าอุทกภัย ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ว่า ครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว ความเปลี่ยนแปลงของแห่งหนตำบลนี้ มีขึ้นมาเพราะน้ำท่วมใหญ่ เรื่องแบบนี้ไม่เพียงเคยมีแล้ว ก็จะยังมีต่อไปอีก.

บาราย