มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่กำลังจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันอังคารที่ 30 เม.ย.นี้ ภายใต้วงเงิน 22,000 ล้านบาท
ตกเป็นเป้าโจมตีจากหลายฝ่ายว่า รัฐบาลกำลังเอาเงินงบประมาณรายจ่ายที่เป็นเงินภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย โดยเฉพาะการให้เงินแก่ผู้มีชื่อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนจำนวน 14.5 ล้านคน คนละ 1,500 บาท ซึ่งเป็นมาตรการแรก เพื่อให้ไปเที่ยว ในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศฟรี! เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามโครงการ “ยิ่งเที่ยว ยิ่งเท่ ช่วยเปย์ เมืองรอง” ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังจะขยายเวลามาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรองที่สิ้นสุดไปเมื่อเดือน ธ.ค.ปีก่อนออกไปถึงการท่องเที่ยวเมืองหลัก โดยให้นำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากค่าที่พัก และการเดินทางไปหักค่าลดหย่อนได้ไม่เกินคนละ 15,000 บาท ซึ่งคาดว่ารัฐน่าจะสูญรายได้เป็นพันล้านบาท
ส่วนมาตรการที่ 2 ที่รัฐบาลจะใส่เงินลงไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 7,000 ล้านบาทก็คือ ใส่ตรงให้กับ 1.ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานกำลังเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาลงไปมีประมาณ 4 ล้านคน บุตรของคนเหล่านี้จะได้เงินคนละ 500 บาท ถ้ามี 3 คนก็จะได้ 1,500 บาท เพื่อนำไปซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์-ตำราเรียน และชุดกีฬา 2.เกษตรกรที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรฯจะได้เงินคนละ 1,000 บาท เพื่อนำไปซื้อปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง
กลุ่มที่ 3 คนพิการที่ขึ้นทะเบียนในบัตรสวัสดิการซึ่งมีอยู่ราว 1 ล้านคน จะได้รับการเพิ่มพิเศษอีกเดือนละ 200-300 บาท เริ่มจากเดือน พ.ค.-ก.ย.2562 จากเดิมที่รัฐบาลจ่ายเงินผ่านบัตรอยู่เดือนละ 600-800 บาท กลุ่มที่ 4 รัฐจะเติมเงินผ่านบัตรสวัสดิการ เพื่อใช้จ่ายในร้านธงฟ้าประชารัฐเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยได้คนละ 200-300 บาทก็จะให้ทุกคนได้คนละ 500 บาท
ทั้งนี้ เพราะโครงการยิ่งเที่ยว ยิ่งเท่ ถูกโจมตีหนัก จึงอาจจะหันมาจ่ายตรงให้คนจนไปจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น กลุ่มที่ 5 คือสนับสนุนการอ่านแก่ผู้คนทั่วไปด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อหนังสือ e-book แต่ยังไม่กำหนดวงเงินว่าต้องซื้อเท่าใด กลุ่มสุดท้ายคือ ให้ร้านค้าที่ลงทุนติดตั้งเครื่อง POS หรือเครื่องเก็บเงินบัตรเดบิตหักรายจ่ายได้ 1.5-2 เท่าเพื่อส่งเสริมให้ร้านค้าต่างๆ เข้าสู่ระบบ e-payment มากขึ้น
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นี้ เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาล เห็นว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคักขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามกลับไม่เป็นเช่นนั้น ขณะที่สำนักเศรษฐกิจทั้งหลายรายงานแนวโน้มจีดีพีประเทศไทยในปีนี้ว่า จะลดต่ำลงเรื่อยๆ โดยล่าสุด เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียง 3.4% ของผลผลิต มวลรวมประเทศเท่านั้น
ในข้อเท็จจริง ตลอดช่วง 5 ปีของการเข้ายึดอำนาจบริหารราชการ แผ่นดินจากรัฐบาลเลือกตั้งปี 2557 นั้น รัฐบาลรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเกลียดชังการทุจริตคอร์รัปชันในหมู่ นักการเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และ นโยบายที่นำเงินภาษีอากรของประชาชนไปใช้ในการลดแลกแจกแถม ภายใต้นโยบายที่เรียกกันว่า “ประชานิยม” นั้น
เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้นโยบายแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กลับใช้วิธีการง่ายๆด้วยการเปลี่ยนนิยามของนโยบายประชานิยมใหม่เป็น “นโยบายประชารัฐ” ที่ยังคงเน้นหนักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการลดแลกแจกแถมเงินภาษีไปในรูปแบบต่างๆเช่นเดิม
นับตั้งแต่มาตรการช็อปช่วยชาติที่เริ่มดำเนินการมาในปลายปี 2561 ที่ให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้า 3 ประเภทแล้วนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ เช่น ยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ และยางรถจักรยานที่ซื้อจากผู้ประกอบการซึ่งจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม, สินค้าจากโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน และหนังสือ รวมถึงหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-book) ไม่รวมถึงนิตยสาร-หนังสือพิมพ์
ยังมีมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 5% (อั่งเปาตรุษจีน) ระหว่างวันที่ 1-15 ก.พ.2562 โดยให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าทุกรายการ ยกเว้นเหล้า เบียร์ บุหรี่ ในวงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 20,000 บาท ผ่านบัตรเดบิตกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในระบบบันทึกการเก็บเงิน (POS)
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้จัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนให้แก่ผู้ลงทะเบียนคนจนรวมถึงคนชรา 14.5 ล้านคน และคนพิการอีกราว 1 ล้านคน ได้รับ บัตรสวัสดิการคนจนในเรื่องของค่าเช่าบ้าน เงินพิเศษคนละ 1,000 บาท ค่าเดินทางไปหาหมอคนละ 1,000 บาท
ค่าใช้จ่ายในร้านธงฟ้าประชารัฐ 200-300 บาทสำหรับถุงเงินประชารัฐ ค่าตั๋วรถเมล์ รถโดยสารคนละ 500 บาท ค่าน้ำค่าไฟ ไม่เกินครอบครัวละ 230 บาท รวมการแจกเงินครั้งแรกไปแล้ว 120,000 ล้านบาท
ยังไม่นับการประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ยกระดับราคาปาล์มน้ำมัน และข้าวจนถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนรวมเป็นเงินกว่า 20,000 ล้านบาท และยังมีการแจกเงินให้แก่ข้าราชการบำนาญอีก 24,700 ล้านบาทด้วย เป็นต้น
การใช้จ่ายตามนโยบายประชารัฐดังกล่าว ทำให้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ใช้เงินงบประมาณรายจ่ายไปสูงกว่าที่ควรจะเป็น หรือแจกสะบัดจนประเทศอาจล่มจมได้หรือไม่ เราไม่อาจตอบได้ เพราะสื่อไม่ สามารถตรวจสอบข้อมูลข่าวสารได้ในยามที่ประเทศไม่ได้อยู่ในสภาพปกติ
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบดูจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีต่างๆตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีการใช้เงินไปแล้วปีละกว่า 2-3 ล้านล้านบาท สิริรวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 14 ล้านล้านบาท และมีผลการขาดดุลงบประมาณทุกปีรวมกว่า 2.1 ล้านล้านบาท
ทีนี้มาตรวจสอบความเห็นของบรรดานักธุรกิจในแวดวงเศรษฐกิจของประเทศว่า แต่ละคนคิดอย่างไร และเสนอแนวทางในการแก้ปัญหานี้อย่างไร
ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่เห็นตรงกันว่า สภาพเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งถือว่าหยุดนิ่ง แม้แต่นักลงทุนต่างชาติ ก็ชะลอที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย เพราะต่างก็ไม่มั่นใจว่า หลังเลือกตั้ง ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ทั้งๆที่การเลือกตั้งก็ผ่านไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้
ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด คือ มาตรการแก้ปัญหา เศรษฐกิจที่ซึมลึกได้ดีที่สุด เพราะเป็นการฉีดยารักษาโรคที่ต้นเหตุ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากการตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปโดยไม่มีกำหนด ต่อให้อัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลเท่าใดผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ก็ไม่มีวันจะฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมา ตราบใดที่คนไม่เชื่อมั่นที่จะใช้จ่ายเงิน
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้ว ก็คงต้องรอการประกาศผลการเลือกตั้ง วันที่ 9 พ.ค.นี้ จึงจะเริ่มเห็นโฉมหน้าของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะตัวบุคคลที่จะมาเป็นทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่าจะสามารถโชว์ฝีมือเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน หรือคนทั้งประเทศได้อย่างไร เพื่อทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา
ขณะที่หากรัฐบาลชุดนี้ จะออกมาตรการใดๆมา ก็ต้องดูฐานะการเงินการคลังของประเทศด้วยว่า มีเพียงพอหรือไม่ เพราะเป็นการเอาเงินของรัฐบาลชุดใหม่มาใช้ล่วงหน้าในอนาคต
“ผมเชื่อว่า ภาคเอกชน และคนทั้งประเทศ ก็เอาใจช่วย ขอพรรค การเมือง ไม่ว่าพรรคใดก็ตาม สามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ให้เร็วที่สุดมีทีมเศรษฐกิจที่ประกาศชื่อออกมาแล้วได้รับการยอมรับในฝีมือว่าจะผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจตามที่หาเสียงเลือกตั้งไว้เป็นผลสำเร็จ ที่สำคัญ เมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ ปัญหาการเมืองก็จะไม่มีความวุ่นวาย สถานการณ์ต่างๆก็จะเริ่มดีขึ้น”
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ขอเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ก็เช่น ขณะนี้ได้เกิดโรคระบาดในประเทศจีน เช่นโรคอหิวาต์ในสุกร ที่เริ่มต้นจากจีนระบาดมาในกัมพูชา และอาจจะลุกลามเข้ามาในประเทศไทย จึงต้องหาวิธีการป้องกันไม่ให้อหิวาต์สุกรระบาดเข้ามาในไทย
ในฐานะไทยเป็นผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ในภูมิภาค จึงอาจฉวยจังหวะนี้ส่งออกสุกรไปตลาดโลก ซึ่งหากสามารถทำได้ จะทำให้เราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก และส่งผลเกี่ยวเนื่องไปยังธุรกิจผลิตจำหน่ายอาหารสัตว์เติบโต รวมถึงการจ้างแรงงานเลี้ยงสุกรเพิ่มขึ้น เป็นต้น
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ในรอบนี้ออกมาในจังหวะที่เศรษฐกิจไทยกำลัง เผชิญกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การส่งออกใน ไตรมาสแรกของปีจึงหดตัวลงในวงกว้าง ทั้งในรายการสินค้าส่งออกหลักและรายตลาดส่งออกที่สำคัญ
นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศที่สำคัญ ก็บ่งชี้ไปในทิศทางที่ชะลอตัวลง เช่น รายได้ภาคเกษตร ที่กลับมาหดตัวในเดือน มี.ค. ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ จากการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถประจำทาง ราคาน้ำมันใน ตลาดโลกที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งทำให้ครัวเรือนมีภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น
“ช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองมักจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง เนื่องจากประชาชนและนักลงทุนต้องการรอดูความแน่ชัดของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยในกรณีนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคม หมายความว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วง 1-2 เดือนนี้ อาจจะช้าลงกว่าที่ควรจะเป็น จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องใช้เครื่องมือนโยบายการคลังในการพยุงการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงนี้”
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เตรียมออกมาคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 20,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1% ของจีดีพี ส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่เพิ่มอำนาจการซื้อของครัวเรือน มุ่งหวังให้เกิดการใช้จ่ายของครัวเรือนในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทำให้มองว่า ความคาดหวังผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเร่งขึ้นนั้น
คงจะไม่ใช่เป้าหมายอันดับแรกๆของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ แต่น่าจะเป็นความคาดหวังให้เศรษฐกิจไทยมีแรงพยุงไม่ให้ไถลตัวลงไปมากเกินไป
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นคงจะมีผลจำกัดต่อการลงทุนในภาพรวม เนื่องจากปัจจัยที่จะมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจลงทุนคงอยู่ที่การประเมินภาพทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของนโยบายของรัฐบาล ที่รวมถึงความต่อเนื่อง ของการดำเนินการลงทุนของภาครัฐ ทำให้คาดว่าเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนที่จะเข้ามาใหม่น่าจะเพิ่มขึ้นชัดเจนภายหลังจากที่การจัดตั้งรัฐบาลผ่านไปเรียบร้อยแล้ว”
ผมเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ เพราะบรรยากาศหลังการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่เหมือนที่แล้วๆมา ที่เศรษฐกิจมักจะคึกคักหลังการเลือกตั้ง แต่คราวนี้เศรษฐกิจกลับดูซบเซาลง ซึ่งสาเหตุหลักน่าจะมาจากความกังวลเรื่องผลการ เลือกตั้งที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค หรือการลงทุนภาคเอกชน เงินลงทุนจากต่างชาติในตลาดทุน ที่คาดว่าจะไหลกลับหลังการเลือกตั้งก็ยังไม่เกิดขึ้น
เพราะนอกจากความไม่ชัดเจนของผลการเลือกตั้งแล้ว ยังมีความกังวลว่าอาจจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะจำนวน ส.ส. ที่ใกล้เคียงกันมากของทั้งสองฝ่าย หรือใช้เวลานานกว่าที่จะได้รัฐบาลใหม่ และถึงแม้ตั้งรัฐบาลได้ ก็อาจจะเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ ความเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง
นอกจากการที่รัฐบาลอาจอยู่ได้ไม่นาน ก็คือทีมเศรษฐกิจอาจไม่มีเอกภาพและมีแนวทางการบริหารเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกัน เพราะมาจากหลายพรรคการเมือง ทำให้รัฐบาลอาจไม่สามารถผลักดันโครงการลงทุนใหญ่ๆได้
เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ยังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย ล่าสุด IMF ปรับประมาณการ World GDP growth ลงอีกเหลือ 3.3% รวมทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยังยืดเยื้อ ทำให้การส่งออกซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ หดตัวต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การท่องเที่ยวซึ่งเป็นอีกช่องทางที่ทำรายได้สำคัญขึ้นเรื่อยๆ ก็ขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงมาก เพราะกำลังซื้อที่ลดลงของนักท่องเที่ยว
“การที่รัฐบาลเลือกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคโดยการแจกเงิน อาจไม่ใช่วิธีใช้เงินที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะไม่ช่วยทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องในระยะยาว และผมไม่สนับสนุนให้ใช้นโยบายลักษณะนี้ในภาวะปกติ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง นักธุรกิจขาดความมั่นใจ และการส่งออกซบเซา วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่เห็นผลเร็วที่สุด ส่วนผลจะมีมากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเม็ดเงินจะถูกนำไปใช้เมื่อไหร่”
หากคำนวณแบบคร่าวๆ ถ้าทั้ง 20,000 ล้านบาท ถูกใช้ไปในไตรมาสสองนี้ก็น่าจะช่วยเพิ่ม GDP ของไตรมาสนี้ได้อีก 0.5% ส่วน GDP ของทั้งปีก็จะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.1% ถึงแม้จะไม่มาก แต่ก็จำเป็นเพื่อรักษาโมเมนตัมของเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวจนเกินไป
ขอให้ความเห็นเรื่องนี้เป็น 4 หมวด หมวดแรก เป็นเรื่องเติมเงินบัตรสวัสดิการรัฐด้านต่างๆ เพื่อประคองให้คนไปได้รอดในช่วงที่ค่าครองชีพเกินรายได้ เช่น เรื่องเติมเงินให้เพื่อช่วยค่าเล่าเรียนบุตร ช่วยค่าปุ๋ยเกษตรกร ช่วยคนพิการ และการเติมเงินช็อปปิ้งธงฟ้าประชารัฐให้ผู้มีรายได้น้อย
มองว่าสาเหตุที่ต้องมีหมวดนี้ เพราะการขยายตัวเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอาจดูดีพอใช้ แต่มันไปไม่ถึงกลุ่มคนรายได้น้อย ทำให้ต้องหล่อเลี้ยงคนรายได้น้อยให้ประคองตัวไปได้ในระยะสั้น แต่การทำอย่างต่อเนื่องยาวนานไปจะเกิดผลได้ไม่คุ้มเสีย จึงต้องระวังให้มาก เพราะอะไรที่ให้ไปแล้วจะยกเลิกยากและจะทำให้คนเสพติด กลายเป็นสวัสดิการรัฐที่ต้องมีไปตลอด
สิ่งที่จะต้องเร่งแก้ไข คือ การทำให้พวกเขายืนได้ด้วยตนเองให้เร็วที่สุด ไม่ใช่ให้รอลุ้นทุกงวดว่ารัฐจะแจกเงินให้อีกไหม นอกจากนี้เราจะกลายเป็นสังคมอ่อนแอในเร็ววันได้ หากยังใช้มาตรการแจกเงินต่อไปเรื่อยๆคือ อ่อนแอทั้งสถานะทางสังคมของคนรายได้น้อยที่ต้องคอยพึ่งพาเงินจากคนที่มาเป็นรัฐบาล และอ่อนแอในเรื่องวินัยทางการคลังของประเทศ โดยเพิ่มหนี้ภาครัฐสูงขึ้นไปเรื่อยๆตามจำนวนครั้งที่มีการเลือกตั้ง
หมวดที่สอง คือการสนับสนุนธุรกรรมที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งมีได้หลายอย่าง สำหรับกรณีนี้คือการลดหย่อนภาษีจากการซื้อหนังสือและ e-book มาตรการนี้เป็นเรื่องดี เพราะสนับสนุนให้คนอ่าน แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีร้านขายหนังสือออนไลน์สักกี่แห่งที่เข้าร่วมโครงการ เพราะส่วนหนึ่งเขาไม่ได้จ่ายภาษีให้รัฐ
หมวดที่สาม คือมาตรการที่รัฐต้องการให้ธุรกิจเข้าสู่ระบบอีเพย์เมนต์และระบบภาษี กรณีนี้คือจะให้หักค่าใช้จ่ายร้านค้าที่ลงทุนติดตั้งเครื่องพีโอเอส (POS) หรือเครื่องเก็บเงินได้ 1.5-2 เท่า มาตรการนี้เป็นเรื่องดีมาก แต่ต้องติดตามดูว่าร้านค้าต่างๆจะยอมเข้าระบบขนาดไหน
หมวดที่สี่ คือมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว มองว่าเป็นมาตรการที่ได้ผลในช่วงที่นักท่องเที่ยวจากจีนลดน้อยลงเพราะเงินหยวนอ่อนค่า แต่ไม่ควรใช้ไปเรื่อยๆ
“วรวรรณ” ทิ้งท้ายไว้ให้คิดว่า อีกด้านที่ต้องนึกถึงคือ ในขณะที่รัฐจ่ายเงินออกไป รัฐก็ต้องหาเงินเข้าด้วย เช่น การเก็บภาษีอื่นๆซึ่งไม่เคยเก็บ อาจทำให้ประชาชนที่หลีกเลี่ยงภาษีไม่ได้ เกิดความคับข้องใจ ซึ่งมักเป็นคนรายได้ปานกลาง เป็นมนุษย์เงินเดือน จึงต้องทำให้มาตรการต่างๆมีความเป็นธรรม ทำให้คนเข้าใจ ยอมรับ และต้องคิดถึงฐานะการคลังของประเทศในระยะยาวด้วย!!
โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ เพราะประชาชนในระดับฐานราก ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีความเป็นอยู่อย่างยากลำบากมาก ค่าครองชีพสูงขึ้น รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย
แต่การใช้มาตรการใดๆ โดยเฉพาะการสร้างกำลังซื้อ โดยให้เงินประชาชน เพื่อให้ไปจับจ่ายใช้สอย หรือกระตุ้นการท่องเที่ยวควรจะเป็นมาตรการระยะสั้น และทำเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากเป็นมาตรการระยะยาว จะเป็นภาระกับงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้อีกมาก
“ขณะนี้จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะรากหญ้าแย่มาก แต่การโยนเงิน หรือเพิ่มเบี้ยยังชีพตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ควรทำแบบชั่วคราวในระยะสั้นๆ เพราะหากทำยาว จะเพิ่มภาระงบประมาณในภาวะที่มีจำกัดเท่ากับเหนื่อยเปล่า เพราะรัฐบาลต้องหาเงินเพิ่มขึ้นอีก เพื่อนำมาให้ประชาชนไม่รู้จบ”
นอกจากนี้ หากรัฐบาลจะออกมาตรการแจกเงิน 1,500 บาท เพื่อให้ประชาชนไปท่องเที่ยวเมืองรองจริง ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในเมืองรองได้จริงหรือไม่ เพราะยังไม่รู้ว่าประชาชนจะนำเงินไปเที่ยวเมืองรองจริงหรือไม่ และรัฐบาลจะกำหนดเงื่อนไขใดที่ห้ามนำเงินก้อนนี้ไปใช้จ่ายด้านอื่น
ผมมองว่า การที่ประเทศไทยมีบิ๊กดาต้า หรือคลังข้อมูลของประเทศในด้านต่างๆจะช่วยทำให้รัฐบาลมองการแก้ปัญหาได้ดีขึ้น เพราะหากหลักการดี แต่ข้อมูลผิด โจทย์ในการแก้ปัญหาก็จะผิดพลาด และทำให้การแก้ปัญหาไม่บรรลุตามเป้าหมาย อย่างกรณีเมืองรอง การที่ประชาชนไม่เดินทางไปเที่ยว หรือไปเที่ยวน้อย รัฐบาลต้องรู้ก่อนว่าสาเหตุมาจากอะไร ในเมืองรองแต่ละแห่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวแล้วหรือไม่ มีจุดเชื่อมต่อการเดินทางสะดวกไหม มีที่พักเพียงพอหรือไม่ ไม่ใช่แจกเงินอย่างเดียว ถ้าประชาชนแห่ไปเที่ยวจริงจะรองรับได้หรือไม่.
ทีมเศรษฐกิจ