ถ้าอยากรู้ว่าเทรนด์เสื้อผ้าฤดูกาลนี้สีอะไร ให้ไปดูสีของแม่น้ำประเทศจีน!! นี่ไม่ใช่คำเปรียบเปรยเล่นๆ แต่คือความจริงแสนเจ็บปวด กว่าจะมาเป็นเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ต้องผ่านสิ่งปนเปื้อนทางเคมีมากมาย ทั้งฟอกทั้งย้อม จึงไม่น่าแปลกใจที่อุตสาหกรรมแฟชั่นจะกลายเป็นต้นตอสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างมลพิษมากที่สุดอันดับต้นๆของโลก โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 1,200 ล้านตัน

...

ไม่ผิดที่เกิดมาเป็น “สายแฟ” รักการแต่งตัวและชอบเกาะติดเทรนด์แฟชั่น แต่เราเคยถามตัวเองไหมว่าเสื้อผ้าที่อัดแน่นล้นทะลักตู้ ได้สร้างมลพิษให้โลกมากมายขนาดไหน เราซื้อเสื้อผ้าใหม่กันทุกซีซันเพราะเกิดมาในยุคของฟาสต์แฟชั่น ที่สามารถเข้าถึงเทรนด์ล่าสุดในราคาถูกแสนถูก แต่รู้ไหมว่าทุกๆปีมีขยะเสื้อผ้าที่ถูกส่งไปบ่อกำจัดขยะมากถึง 118 ล้านตัน เคยนึกเอะใจไหมว่า เสื้อผ้าที่เราใส่...จริงๆแล้วใครเป็นคนผลิต ฟาสต์แฟชั่นราคาถูกอาจจะไม่ได้ถูกจริง แต่คนถูกเอาเปรียบคือสาวโรงงานจากประเทศโลกที่สาม ที่ถูกกดค่าแรงต่ำกว่าจริงหลายเท่าตัว ไม่นับรวมการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมแฟชั่น และคุณภาพชีวิตที่ต่ำของสาวโรงงาน จากการสำรวจพบว่าสาวโรงงานตัดเย็บในบังกลาเทศ ได้เงินเดือนเพียง 1,600 บาท ขณะที่ในกวางดง ประเทศจีน สาวโรงงานต้องทำงานล่วงเวลาเฉลี่ยเดือนละ 150 ชั่วโมง โดย 60% ทำงานแบบไร้สัญญาจ้าง และ 90% ไม่สามารถเข้าถึงประกันสังคม โดยแรงงานทาสยุคใหม่มีอยู่ทั่วโลกถึง 40.6 ล้านคน และ 71% ล้วนเป็นผู้หญิง

เหตุโศกนาฏกรรม “ตึกรานา พลาซา” ถล่มในบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2556 ทำให้มีคนงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นเสียชีวิตมากกว่า 1,133 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บนับไม่ถ้วน ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวจาก 100 ประเทศทั่วโลกมารวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม “Fashion Revolution” เพื่อรณรงค์ให้ชาวโลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ในการผลิตและบริโภคเสื้อผ้า เพื่อสร้างอนาคตใหม่ที่ยั่งยืนกว่าให้อุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งนอกจากจะมุ่งหวังการสร้างกำไรและโชว์ความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังต้องตระหนักถึงคุณค่าความเป็น มนุษย์ และใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

...

หนึ่งในกิจกรรมหลักของกลุ่ม “Fashion Revolution” คือ การจัดสัปดาห์แห่งการปฏิวัติแฟชั่น พร้อมกันทั่วโลก ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน โดยในประเทศไทยก็มีความเคลื่อนไหวคึกคักต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยปีนี้มีการรณรงค์แคมเปญเก๋ไก๋ #Who MadeMyClothes เรียกร้องเหล่าแฟชั่นนิสต้าหัวก้าวหน้าให้ช่วยกันถ่ายภาพตัวเองใส่เสื้อกลับป้ายออกมาด้านนอก โพสต์เผยแพร่บนสื่อโซเชียล เพื่อประกาศให้แบรนด์ใหญ่ๆได้ตื่นตัวว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องใส่ใจเรื่องจริยธรรมการผลิตมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังเชิญชวนให้รื้อตู้เสื้อผ้า แล้วนำเสื้อผ้ามาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้า ลดการสร้างขยะให้โลก และประหยัดเงินในกระเป๋า ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนับสนุน ใครอยากเป็นแนวร่วมปฏิวัติวงการแฟชั่น คลิกเข้าไปที่เฟซบุ๊ก Fashion Revolution Week 2019 : Who Made My Clothes?