แม้ “เงิน” จะเป็นสิ่งที่คนทุกผู้ทุกเหล่าถวิลหา แต่ท่าทีที่รัฐบาลจะแจกเงินเน้นๆ ให้ประชาชน ดูท่าจะมีเสียงบ่นอุบจากทุกทิศทุกทาง จนเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า การโปรยเงินนับหมื่นล้านลงมา มิใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด และอย่าสรุปเอาเองว่า ประชาชนทุกคนจะปรบมือยินดีกับการตะบี้ตะบันแจกเงินเช่นนี้
ขณะที่ช่วงนี้ ข่าวที่ว่ารัฐบาลมีแนวคิดจะแจกเงินจะสะพัดออกมาโครมๆ โหมกระหน่ำ แต่ในเวลาเดียวกัน ข่าวสินค้าขึ้นราคา(ขึ้นราคากันไปแล้ว) ก็พอจะมีให้เห็นและถูกพูดถึงอยู่บ้างกะปริบกะปรอย
ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ไล่เรียง เงินส่วนได้(จากโครงการแจกเงิน) VS เงินที่ต้องเสีย(จากสินค้าขึ้นราคา) จะมีอะไรบ้าง เช็กกันเอาไว้ให้ดี
รวมมาตรการแจกเงิน
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง จ่อชงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลากหลายมาตรการเข้า ครม. ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ รวมแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย...
แจกเงินซื้อชุดนักเรียน
- รัฐจะเติมเงินเข้าไปในบัตรคนจน ให้ผู้ปกครองที่มีลูกหลานกำลังเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาลงไป ได้รับเงินคนละ 500 บาทต่อบุตร 1 คน ถ้ามีบุตร 3 คน จะได้รับเงินรวม 1,500 บาท เพื่อให้นำเงินไปซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน และชุดกีฬา
แจกค่าปุ๋ย
- สำหรับเกษตรกรที่ถือบัตรคนจน และขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ จะได้รับเงินคนละ 1,000 บาทในครั้งเดียว เพื่อนำไปซื้อปุ๋ยไว้ใช้ในการทำการเกษตร
แจกเงินคนพิการ
- คนพิการที่ขึ้นทะเบียนบัตรคนจนไว้ประมาณ 100,000 กว่าคน จะได้รับเงินเพิ่มเติมพิเศษอีกเดือนละ 200-300 บาท เริ่มจากเดือน พ.ค.-ก.ย. 2562 จากเดิมที่รัฐจ่ายเงินผ่านบัตรช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่างๆ เดือนละ 600-800 บาท
แจก 1,500 เที่ยวเมืองรอง
- โครงการ “ยิ่งเที่ยว ยิ่งเท่ ช่วยเปย์ เมืองรอง” ซึ่งจะแจกเงินให้ประชาชนตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป คนละ 1,500 บาท งบประมาณทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท สำหรับผู้ที่สนใจจะต้องมาลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ภายใน 10 ล้านคนแรกเท่านั้น และจะต้องระบุว่าจะไปเที่ยวจังหวัดเมืองรอง โดยไม่สามารถเลือกจังหวัดที่ตนเองอยู่อาศัยได้
อย่างไรก็ดี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้นั้น ส่งสัญญาณชะลอตัวลง ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงจะเร่งสรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะมีทั้งหมด 4-5 โครงการให้เสร็จสิ้นเพื่อเสนอคณะรัฐมนตี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 30 เม.ย.นี้ โดยหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไตรมาส 2 ให้ดีขึ้นได้
รวมราคาสินค้าขึ้นราคา
ในขณะที่ รัฐแจกเงิน แต่ราคาสินค้าและบริการอีกหลายรายการก็แห่แหนกันขึ้นราคา อาทิ...
รถเมล์ขึ้นราคา
- รถโดยสารธรรมดา ครีมแดง ของ ขสมก. ปรับราคาเป็น 8 บาท-รถโดยสารปรับอากาศครีมน้ำเงิน ปรับเป็น 12-20 บาท
- รถปรับอากาศยูโรทูสีส้ม ปรับเป็น 13-25 บาท
- รถเมล์ร่วมภาคเอกชน ปรับเป็น 9 บาท
รถตู้ขึ้นราคา
- สำหรับรถตู้ที่จะปรับขึ้นนั้น หากระยะทางไม่เกิน 20 กม. กิโลเมตรแรกเพิ่มขึ้นกิโลเมตรละไม่เกิน 1.20 บาท หากเดินทาง 20 กม. ขึ้นไป ปรับขึ้นกม.ละไม่เกิน 0.80 บาท ส่วนค่าโดยสารขั้นต่ำปรับขึ้นมาที่ 15 บาท ส่วนค่าทางด่วน 5 บาทต่อคนและปรับขึ้นเป็น 10 บาท
น้ำมันขึ้นราคา
- บมจ.ปตท. และ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ขึ้น 50 สตางค์/ลิตร ยกเว้น E85 ปรับขึ้น 30 สตางค์/ลิตร ส่วนดีเซล ราคาขยับ 50 สตางค์/ลิตร
อาหารสดขึ้นราคา
- สินค้ากลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะผัก ผลไม้ มะนาว รวมถึงเนื้อสุกร มีราคาสูงขึ้น เพราะผลผลิตลดลงจากภัยแล้ง
ล่าสุด จากการประกาศราคาของกรมการค้าภายใน เฉลี่ยในตลาดต่างๆ พบว่า ราคามะนาวแป้นเบอร์ 1-2 เฉลี่ยลูกละ 6-7 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนลูกละ 1.5-2 บาท ขณะที่มะนาวแป้นเบอร์ 3-4 ราคาเฉลี่ยลูกละ 4.5-5 บาท เพิ่มขึ้นลูกละ 1 บาท.