ย้อนมหากาพย์โครงการ "โฮปเวลล์" อนุสรณ์แห่งความอัปยศ เมื่อปี 2533 ต่อสู้ ยืดเยื้อคดีนานหลายปี จนล่าสุดศาลปกครองสูงสุด สั่งคมนาคม จ่ายค่าโง่ 11,888 ล้านบาท...
เป็นเรื่องยืดเยื้อกันหลายปี สำหรับมหากาพย์โครงการ "โฮปเวลล์" หรือ โครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกิดขึ้นเมื่อปี 2533 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีการเปิดประมูลก่อสร้างทางยกระดับ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ซึ่งผู้ชนะการประมูลโครงการนี้คือ "กอร์ดอน วู" ประธานบริหารโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้างของฮ่องกง
ที่ล่าสุด วันที่ 22 เม.ย.62 ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ แก่บริษัท โฮปเวลล์ รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
สำหรับโครงการนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2533 ได้มีการลงนามเซ็นสัญญา โดยสัญญาสัมปทานมีอายุยาวนานถึง 30 ปี โดยโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมด ใช้วงเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี มองดูแล้วเหมือนฝ่ายรัฐบาลจะได้เปรียบ แต่หากมองอีกทีพบว่า สิ่งที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลเสียเปรียบฝ่ายเอกชนอย่างมาก นั่นคือการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุนให้บอกเลิกสัญญาได้ แต่ขณะที่รัฐบาลไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้
ต่อมามีรายงานว่า โครงการนี้มีเหตุต้องสะดุด เนื่องจาก โฮปเวลล์ อ้างเหตุที่ก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากการรถไฟฯ ไม่ส่งมอบที่ดินให้ได้ตามข้อตกลง เพราะประสบปัญหาเรื่องการอพยพโยกย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ในหลายเส้นทาง ประจวบเหมาะกับการที่โฮปเวลล์เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลให้โครงการยักษ์ใหญ่ต้องสะดุดลง ประกอบกับแหล่งเงินทุนที่เคยให้โฮปเวลล์ผันเงินได้คล่องๆ เริ่มไม่มั่นใจและถอนตัวออกจากการร่วมลงขันให้กู้แก่โครงการโฮปเวลล์
...
นี่จึงเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลไทยถึงกับกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ครั้นจะบอกเลิกสัญญาก็ทำไม่ได้ เพราะสัญญาที่เขียนกันไว้เหมือนจงใจวางยาประเทศตัวเอง ทำให้รัฐบาลที่ผ่านมาหลายต่อหลายชุดจึงไม่กล้าเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา เพราะกลัวว่าจะถูกโฮปเวลล์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ยกเลิกสัญญา ซึ่งไม่อาจประเมินเป็นตัวเลขได้ ทำให้มีการต่อสู้คดีประวิงเวลากันไปมา
จนกระทั่งในปี 2539-2540 โฮปเวลล์ได้หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ทำให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรมว.คมนาคม เห็นชอบให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานโฮปเวลล์ ก่อนที่โครงการก่อสร้างจะสิ้นสุดในสมัยนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ได้บอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.2541 เนื่องจากหลังดำเนินโครงการมา 7 ปี แต่กลับมีความคืบหน้าเพียง 13.7%
ทางโฮปเวลล์ ได้เดินหน้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ เป็นจำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ การรถไฟฯ ก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายในการเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการเป็นจำนวน 2 แสนล้านบาท ต่อมาใน พ.ศ. 2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ คืนเงินชดเชยแก่โฮปเวลล์ 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม
จากนั้น กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในกรณีพิพาทการบอกเลิกสัญญา โดยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2557 ศาลปกครอง ซึ่งมีอำนาจพิจารณาข้อพิพาทสัญญาทางปกครอง จึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ วันที่ 30 ก.ย. 2551 และ 15 ต.ค. 2551 ทั้งฉบับ และให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาแก่โฮปเวลล์
เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างยื่นเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้น เป็นการยื่นเรื่องให้วินิจฉัยที่เกินกรอบระยะเวลา 60 วันที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานข้อที่ 31 และระยะเวลาการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ภายในระยะเวลาสูงสุด 5 ปี ตามมาตรา 50 และ 51 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ได้บอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ วันที่ 27 ม.ค. 2541 ดังนั้น หากจะยื่นเรื่องอนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยต้องกระทำภายในวันที่ 27 ม.ค. 2546 ภายหลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่าย รับทราบเรื่องการบอกเลิกสัญญา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง