จับยามสามตา “เกษตรกรไทย” ปี 2562 ขาขึ้น? หรือขาลง?...โดยเฉพาะเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศจะหนุนนำ ส่งผลเอื้อให้การทำเกษตรสำเร็จลุล่วง ได้ผลผลิตลืมตาอ้าปากได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร

จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) บอกว่า วิกฤติภัยแล้งขณะนี้อยู่ในเรื่องของปรากฏการณ์เอลนีโญ ช่วงไตรมาสแรก...มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ปีนี้ยังมีสถานะเป็นกำลังอ่อน

ก็คือ...อุณหภูมิของผิวน้ำมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรมีค่าสูงกว่าปกติอยู่ที่ประมาณ 0.5-1 องศาเซลเซียส เป็นฤดูร้อนประเทศไทยที่อากาศแห้งแล้งก็อาจจะมีปริมาณน้ำน้อย ทำให้ฝนตกน้อย ซึ่งมีการประกาศฤดูร้อนอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่ 21 กุมภาพันธ์ คาดว่าถึงกลางเดือนพฤษภาคม

โดยรวมแล้วในช่วงเวลานี้อยู่ในภาวะความแห้งแล้ง เพราะเป็นฤดูร้อน...มีปรากฏการณ์เอลนีโญในระดับอ่อน สิ่งที่ต้องติดตามก็คือในช่วงไตรมาสต่อไป...เดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน ที่จะเข้าใกล้ฤดูฝน

ส่วนประเด็นที่บอกว่า...ปีนี้เป็นวิกฤติภัยแล้ง! หนักในรอบ 30 ปี เอาเป็นว่าในช่วง 15 ปีนับตั้งแต่ปี 2548 ถือว่า...ยังไม่รุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี ที่รุนแรงคือปี 2558 ในปีนั้นวิกฤติภัยแล้งรุนแรงหนักมาก

...

ดูจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำฝนเทียบค่าปกติ แล้วก็ช่วงฝนทิ้งช่วง ที่สำคัญคือเรื่องของความเสียหายที่เกิดจากความแห้งแล้งที่กระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร ถึงขั้นประกาศงดทำนาปรัง

แล้ว...ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพาราก็มีผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำมาก

“ปีนี้เราผ่านไตรมาสแรกมาแล้ว ก็อาจมีความเสียหายบางส่วน แต่ไม่ใช่ภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิด แต่ต้องติดตามปรากฏการณ์การเกิดเอลนีโญในไตรมาสที่สอง...สาม ที่เป็นฤดูการเพาะปลูกต่อไป แล้วจะเห็นเรื่องปริมาณฝน ปริมาณน้ำในเขื่อน น้ำท่า...แหล่งน้ำธรรมชาติว่าเป็นยังไง”

เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยตัวเลขภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ถือว่าขยายตัวในระดับต่ำหรือค่อนข้างทรงตัว เป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวของสาขาพืชที่ชะลอลงเป็นหลัก

การผลิต “พืชเศรษฐกิจ” หลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และลำไย ยกเว้นอ้อยโรงงาน ซึ่งมีมูลค่าการผลิตสูงสุดในสาขาพืชในไตรมาสแรก กลับมีผลผลิตลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ทำให้การแตกกอ...เจริญเติบโตต้นอ้อยไม่สมบูรณ์

อีกตัวอย่าง สาขาพืช ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 “ข้าวนาปี”...มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะราคาข้าวหอมมะลิที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกในนาที่เคยปล่อยว่าง “ข้าวนาปรัง”...มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากเกษตรกรมีการจัดการดูแลที่เหมาะสม มีน้ำเพียงพอ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดีมีความต้องการต่อเนื่อง ประกอบภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ฯลฯ

ด้านการผลิต “สินค้าปศุสัตว์” โดยรวมเพิ่มขึ้น ขยายรองรับความต้องการของตลาด รวมทั้งมีการจัดการฟาร์มที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ส่วนการผลิต “สินค้าประมง” ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเริ่มปรับตัวดีขึ้น การทำประมงทะเลและการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมีทิศทางเพิ่มขึ้น

จริยา ย้ำว่า ปีนี้คาดว่าจีดีพีเกษตรจะอยู่ที่อัตราขยายตัวเป็นบวก 2.5-3.5 ต่อปี ขณะที่ปี 2558 เจอวิกฤติภัยแล้งหดตัว...ติดลบ ต่ำกว่าศูนย์ จากการวิเคราะห์ข้อมูลไตรมาสสองสำหรับพื้นที่ต้องเฝ้าระวังปีนี้คือจังหวัดร้อยเอ็ดกับศรีสะเกษ พื้นที่ราวๆ 2.9 แสนไร่ต้องเตรียมรับมือแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก

เงื่อนปัญหาในวันวานทำให้เกิดกลไกแก้ปัญหาน้ำในระดับชาติ ในวันนี้มีหน่วยงานบริหารจัดการน้ำกำกับดูแลชัดเจน ที่สำคัญยังมีเรื่องของจำนวนแหล่งน้ำที่เพิ่มขึ้น ทั้งการสร้างแหล่งน้ำระดับลุ่มน้ำ พื้นที่จังหวัด ชุมชน สาธารณะ กระทั่งสระน้ำในไร่นามากขึ้น พร้อมระบบส่งกระจายน้ำ จะช่วยให้บรรเทาภาวะภัยแล้งได้เป็นอย่างดี

หากจะถามว่า “เกษตรกรยุค 4.0” สัญญาณดีไม่ดี? จริยา มองว่า เกษตรกรไทย 4.0 เป็นเรื่องของการเตรียมพร้อมรับมือและเปลี่ยนแปลงวิถีการเกษตรให้ทันโลกสมัยใหม่ ผลิตของที่มีคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุนการผลิต แล้วรู้ว่าตลาดอยู่ไหน รู้ว่ากลุ่มไหน...อายุช่วงไหน...วัยไหน...ผู้มีกำลังซื้ออยู่ที่ไหน

ตอกย้ำประเด็น “การตลาดนำการผลิต” หลักการสำคัญเพื่อให้ผลผลิตไม่ขาดและไม่เกินในตลาด ถ้าเราไม่รู้ตลาดผลิตโดยไม่รู้ก็อาจมีผลผลิตขาด ราคาก็จะสูง ผู้บริโภคก็จะเดือดร้อนต้องซื้อในราคาแพง หรือเกิดการขาดแคลน...คนที่มีกำลังซื้อต่ำจะเดือดร้อน ไม่อย่างนั้นเราก็อาจจะผลิตเกินก็ได้กลายเป็นโอเว่อร์ซัพพลาย

...

“...ของมีเยอะราคาก็จะต่ำ ขาดทุน เกษตรกรเดือดร้อน ไม่จูงใจให้อยากผลิต แล้วก็เกิดอาหารขาดแคลนในระยะต่อไป ตลาดนำผลิตคือรู้ตลาดอยู่ไหนใครคือผู้บริโภค พฤติกรรม ความต้องการเป็นอย่างไร

เมื่อรู้แล้วก็วางแผนการผลิตให้สมดุล ใกล้เคียง...ไม่ขาด ไม่เหลือมาก ด้วยสินค้าการเกษตรมีข้อจำกัด ผลิตแล้วเก็บเข้าโกดังไม่ได้ ต้องวางแผนเตรียมการผลิตตามพื้นที่ที่เหมาะสม”

“เทคโนโลยี” จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะมาจัดการไร่นา ใช้เทคโนโลยีเป็น รวมกลุ่มกันแบ่งปันความรู้ใหม่ๆ ทำงานเชิงรุก แปลงใหญ่...แลกเปลี่ยนกัน เรามีสมาร์ทฟาร์มเมอร์ 1.1 ล้านราย ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ 10,400 ราย... ทำแปลงใหญ่เกษตร GAP เกษตรอินทรีย์ ทำเรื่องสมุนไพรอาหาร...สินค้าที่ผลิตน้อยได้ (มูลค่า) มาก

สัญญาณดีเหล่านี้สะท้อนไปในทิศทางบวก “เกษตรกรไทย 4.0” จะเห็นว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ลูกหลานเกษตรกรทั้งหมด หากแต่บางคนเป็นคนทำงานอิสระ เป็นนักธุรกิจ วิศวกร นักบัญชี หมอ พยาบาล นักสื่อโฆษณา เรียกว่า...มีอาชีพอื่นๆแล้วอยากทำเกษตรสมัยใหม่ อยากเรียกว่า “เกษตรนวัตกร”

...

“มีความรู้มากกว่าเกษตร แล้วสนใจเกษตร มาทำเกษตร ใช้สหวิชาชีพของเขามาช่วยพัฒนาภาคเกษตร ก็จะมีเรื่องการจัดการผลิต ตลาด สิ่งแวดล้อม การสร้างแบรนด์ แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม อาจจะเริ่มจากกลุ่มเล็กๆด้วยตัวเขาเองแล้วก็ขยายเครือข่ายเป็นกลุ่มสถาบัน...เติบโตด้วยความเร็วมากกว่าขนาดต่อไปได้”

การเกษตรยุค 4.0 เกษตรกรคนรุ่นใหม่เหล่านี้อาจจะไม่ได้ทำในพื้นที่มากๆ 50 ไร่...100 ไร่ แต่ทำในแนวตั้ง ใช้พื้นที่ไม่เยอะ แต่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก คาดว่าเกษตรกรเหล่านี้ต่อไปจะเป็นผู้นำ แกนนำพาเกษตรกรกลุ่มอื่นๆเดินตามไป ยิ่งเมื่อบวกกับปราชญ์เกษตร ส่วนใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปมีประสบการณ์มาก มีอยู่ราวๆ 2.3 แสนราย...

“ปราชญ์เกษตร” จะทำการเกษตรแบบมีความสุข ตามภูมิคุ้มกันแบบเศรษฐกิจพอเพียง ทำเกษตรกรรมยั่งยืน ลดความเสี่ยงของรายได้ แต่ตามทันความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกคือไม่ล้าสมัย

จริยา บอกว่า ทั้งกลุ่มสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และปราชญ์เกษตร รวมกันก็เกือบๆ 1.5 ล้านราย (ครัวเรือน) เกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ครัวเรือนเกษตร ถ้ามีอยู่ 7.63 ล้านครัวเรือน...มีอานุภาพพอที่จะแตกกระจายในกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ จะเป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันเข้มแข็งมีความรู้สมัยใหม่ พัฒนาวิถีการเกษตรในยุค 4.0 ได้

“อาจจะต้องมีการส่งเสริม สนับสนุนให้พวกเขาทำวิจัยพัฒนา ต่อยอด เป็นหน้าที่ของภาครัฐจะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรกลุ่มนี้เป็นผู้นำหัวขบวนนำเกษตรกรกลุ่มอื่นๆให้ทำงานร่วมกันผ่านแหล่งทุนด้านวิจัยต่างๆ แลกเปลี่ยนกันในเวทีต่างๆ เพื่อพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สินค้าเกษตรให้มากยิ่งขึ้น”

“เกษตรกรไทย 4.0” คือความหวังใหม่อนาคตเกษตรไทย...ห่างไกลวิถียิ่งทำจะยิ่งจน สวนทางยิ่งนานวันยิ่งสาละวันเตี้ยลง.

...