ไทย จับมือสมาชิก WTO กดดันอินเดีย ยกเลิกมาตรการอุดหนุนส่งออกข้าว

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทย จับมือสมาชิก WTO กดดันอินเดีย ยกเลิกมาตรการอุดหนุนส่งออกข้าว

Date Time: 19 มี.ค. 2562 21:20 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • ไทย จับมือสมาชิกองค์การการค้าโลก หลายประเทศ ทั้งเวียดนาม สหรัฐฯ อียู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น กดดันอินเดีย เลิกใช้มาตรการอุดหนุนส่งออกข้าว สร้างความไม่เป็นธรรมด้านแข่งขัน

ไทย จับมือสมาชิกองค์การการค้าโลก หลายประเทศ ทั้งเวียดนาม สหรัฐฯ อียู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น กดดันอินเดีย เลิกใช้มาตรการอุดหนุนส่งออกข้าว สร้างความไม่เป็นธรรมด้านแข่งขัน...

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกข้าวไทยได้หารือกับผู้ส่งออกข้าวเวียดนามในการทำให้หนังสือให้รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ยื่นประท้วงประเทศอินเดีย จากกรณีที่รัฐบาลอินเดียอุดหนุนการส่งออกข้าว 5 % โดยให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ส่งออกข้าวหลายชนิด เช่น ข้าวกล้อง ข้าวนึ่ง ข้าวหัก ในอัตรา 5% ของราคาส่งออก เพื่อจูงใจให้ส่งออกมากขึ้น ถือว่าไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากผู้ส่งออกข้าวของอินเดียสามารถส่งออกข้าวในราคาต่ำได้ เพราะมีรัฐบาลให้ความช่วยเหลือ หากภาครัฐและเอกชนไม่ร่วมกันกดดัน จะทำให้ไทยส่งออกข้าวได้ลำบาก

“ผู้ส่งออกของไทย และเวียดนาม ได้หารือกันแล้ว และเห็นว่า การอุดหนุนของรัฐบาลอินเดีย ไม่เป็นธรรมต่อการแข่งขัน แม้ว่าอินเดียอ้างว่าไม่ขัดต่อระเบียบขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยก็ได้ทำเรื่องไปยังกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้หาแนวทางแก้ปัญหาแล้ว ซึ่งคงต้องรอพิจารณาว่า จะผิดกฎระเบียบของดับบลิวทีโอหรือไม่ และภาครัฐจะยื่นประท้วงอินเดียในเรื่องนี้ได้หรือไม่”

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ ไทยได้ร่วมกับสมาชิกดับบลิวทีโอหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สอบถามผู้แทนของอินเดียเรื่องการอุดหนุนส่งออกข้าว ระหว่างวันที่ 26 พ.ย.61-25 มี.ค.62 ในการประชุมคณะกรรมการเกษตรสมัยสามัญ ของดับบลิวทีโอ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยอินเดียชี้แจงว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการอุดหนุนการส่งออก เพื่อลดต้นทุนการตลาด และค่าขนส่งในประเทศ ถือเป็นการอุดหนุนการส่งออก ที่ยกเว้นให้ประเทศกำลังพัฒนาทำได้ อีกทั้งอินเดีย แจ้งว่า จะใช้เป็นมาตรการชั่วคราว ไม่มีแผนต่ออายุมาตรการ หลังจะหมดอายุในเดือนมี.ค. 62

“กระทรวงจะติดตามการใช้มาตรการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากอินเดียยังคงใช้มาตรการต่อไป จะขอหารือกับอินเดีย และจะร่วมกับสมาชิกอื่น ผลักดันอินเดียให้ยกเลิกมาตรการ ในเบื้องต้น ในความตกลงเกษตรของดับบลิวทีโอ รัฐบาลไม่สามารถให้การอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรได้ หากไม่ได้แจ้งสงวนวงเงินที่จะใช้ดำเนินการ ส่วนประเทศกำลังพัฒนา สามารถอุดหนุนการส่งออกได้ แต่ต้องเป็นการอุดหนุนที่ให้เพื่อลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ปรับปรุงคุณภาพ และเป็นค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าออก”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ