สาวๆ คะ ใครเคยมีอาการ "เหงื่อออกเยอะผิดปกติ" ในช่วงเวลากลางคืนบ้าง? เหงื่อชุ่มโชกจนต้องตื่นกลางดึก แล้วทำให้หลับไม่สนิท คุณ "ผู้หญิง" อย่านิ่งนอนใจนะ เพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกาย หรือเป็นหนึ่งในอาการของโรคร้ายแรงก็ได้
ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ จะชวนไปรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้ "ผู้หญิง" บางคนมักมีเหงื่อออกมากผิดปกติในเวลาเข้านอนตอนกลางคืน ที่อาจส่งผลเสียต่อ "สุขภาพ" สาวๆ จะได้หาวิธีแก้ไขหรือพบแพทย์ได้ตรงกับอาการที่เป็น ถ้าพร้อมแล้ว มาเช็กทางนี้...
7 สาเหตุ "เหงื่อออกผิดปกติ" ใน "ผู้หญิง"
1. อุณหภูมิในสถานที่นอน
ก่อนจะนอนควรเช็กอุณหภูมิห้อง ให้มันเย็นสบายๆ พอดีๆ เพราะมันส่งผลต่อคุณภาพการนอนของคุณ มีข้อมูลจาก W. Christopher Winter แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ ให้คำแนะนำว่า ควรใส่ใจกับผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ต้องเป็นผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อช่วยลดความร้อนในห้อง ช่วยไม่ให้คุณมีเหงื่อเยอะเกินไปจนตื่นกลางดึก
ในกระบวนการเข้าสู่การนอนหลับ ร่างกายของคุณควรมีอุณหภูมิต่ำลง 1-2 องศาฯ ถึงจะทำให้หลับสบาย ถ้าห้องร้อนเกินไป ไม่มีทางหลับได้สนิทแน่ๆ
...
2. โรค Hyperhidrosis
ภาวะเหงื่อมากผิดปกติ หรือ Hyperhidrosis คือภาวะที่ร่างกายขับเหงื่อออกทางผิวหนังมากผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความบกพร่องของระบบประสาท ระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ การเจ็บป่วยต่างๆ หรืออาจเป็นผลข้างเคียงของยาบางชนิด
มักมีอาการเหงื่อออกท่วมทั้งตัว หรือเหงื่อออกมากๆ ในเฉพาะจุด เช่น รักแร้ มือ เท้า หนังศีรษะ (แต่ไม่ได้เกิดจากภาวะเหงื่อออกโดยทั่วไปอย่าง อากาศร้อน การออกกำลังกาย ภาวะตื่นเต้นหรือเครียด)
แม้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น ทำให้เสียบุคลิก มีกลิ่นตัว โรคผิวหนังติดเชื้อ รู้สึกอับอาย ฯลฯ แต่ก็ไม่ใช่โรคร้ายแรง สามารถรักษาให้หายได้
3. ฝันร้ายจากความเครียด
อีกหนึ่งสาเหตุ คือ คุณมักฝันร้ายบ่อยๆ ขณะนอนหลับ เช่น ฝันว่ากำลังวิ่งหนีอะไรสักอย่าง ในความฝันคุณมีอาการหวาดกลัว หัวใจเต้นเร็ว นั่งก็ส่งผลต่อร่างกาย ทำให้มีเหงื่อออกมากผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากระบบประสาทอัตโนมัติในร่างกาย มีการตอบสนองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือเป็นการตอบสนองจากฮอร์โมน fight-or-flight
หากคุณฝันร้ายและมีเหงื่อออกมากผิดปกติแบบนี้บ่อยๆ นั่นอาจหมายถึงคุณกำลังเป็น "โรคเครียด" ควรไปปรึกษาแพทย์
4. ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
หนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของ ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ ในตอนกลางคืนสำหรับผู้หญิง ก็คือ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนแปรปรวน เช่น ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ก็มักจะมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้หญิงในวัยนี้ หรืออาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งมีภาวะฮอร์โมนแปรปรวนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีเหงื่อออกมากผิดปกติ จากภาวะวัยหมดประจำเดือน คุณสามารถไปปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อใช้ฮอร์โมนบำบัด ก็จะช่วยรักษาอาการนี้ได้
...
5. ผลข้างเคียงจากยาซึมเศร้า
ผู้ป่วยที่ได้รับยาแก้ซึมเศร้า มักจะมีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติร่วมด้วย เนื่องจากยาบางประเภทสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาอะดรีเจนซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นระดับอะดรีนาลีน จึงอาจทำให้มีเหงื่อออกตอนกลางคืนมากกว่าปกติ แต่ข่าวดีคือในปัจจุบันแพทย์สามารถบรรเทาอาการจากผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ให้คนไข้ได้แล้ว
6. ร่างกายติดเชื้อ
หากคุณมีอาการป่วยจากการติดเชื้อ เช่น เป็นไข้หวัด แผลติดเชื้อ หรือป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง(HIV) ฯลฯ โดยทั่วไปอาการป่วยเหล่านี้ มักทำให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงบ่อย และเป็นสาเหตุของภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ หากคุณได้รับการรักษาจนหาย อาการเหงื่อออกมากผิดปกติก็จะหายไปเอง
7. โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งที่โจมตีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหลายอย่าง เช่น มีไข้ น้ำหนักลด และเหงื่อออกมากในตอนกลางคืน แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยก็อาจมีภาวะเหงื่อเปียกโชกในตอนกลางวันได้ด้วย
...
เอาเป็นว่า ถ้าคุณมีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ และสังเกตว่าตัวเองมีอาการอื่นๆ ที่บอกไปข้างต้นร่วมด้วย ก็ควรรีบไปพบแพทย์
สามารถติดตามเรื่องราว “สุขภาพ” ดีๆ ของผู้หญิงกันต่อได้ที่นี่ : สาเหตุอาการเจ็บ "อวัยวะเพศ" ของ "ผู้หญิง" และ เช็กอาการเสพติด "กาแฟ" กับ 5 วิธีแก้ไข
ที่มา : womenshealthmag, pobpad