ตื่นเช้ามาแต่ละวัน "ผู้หญิง" ส่วนใหญ่นิยมดื่มกาแฟก่อนเข้าทำงาน เพื่อกระตุ้นให้ตัวเองสดชื่น ตื่นเต็มตา ระหว่างวันก็ดื่มไปอีก 2-3 แก้ว แบบนี้ระวังคุณจะมีอาการ "เสพติดกาแฟ" กว่าจะรู้อีกทีก็เมื่อไม่ได้กินกาแฟแล้วมีอาการปวดหัวหนัก กระสับกระส่าย ทำงานไม่รู้เรื่อง นั่นคือคุณกำลังมีอาการ "ถอนกาเฟอีน"

ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ มีวิธีแก้อาการ "ถอนกาเฟอีน" มาฝากคุณผู้หญิง เนื่องจากการดื่มกาแฟที่มากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อ "สุขภาพ" ได้เช่นกัน ส่วนจะต้องทำยังไงบ้าง? มาดู...

อาการ "ถอนกาเฟอีน" คืออะไร?

หากสาวๆ รู้ตัวว่าเป็นคนชอบดื่มกาแฟ และต้องดื่มกาแฟทุกวันเพื่อให้ตื่นเต็มตาในวันทำงาน หากไม่ได้ดื่มแล้ว จะมีอาการปวดหัวขึ้นมาเลย อาการแบบนี้เรียกว่า Caffeine withdrawal หรือ ถอนกาเฟอีน เนื่องจาก "กาเฟอีน" เป็นสารเคมีหลักในกาแฟ มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาททำให้สมองแจ่มใส กระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง ไม่ง่วง และยังมีฤทธิ์เสพติดด้วย 

...

ลักษณะอาการ เป็นยังไงบ้าง?

อาการ "ถอนกาเฟอีน" ที่ว่านั้นประกอบไปด้วย อาการปวดหัว ซึ่งพบได้มากที่สุด และมีความรุนแรงแตกต่างกันในแต่ละคน มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่ตื่นตัว ง่วงซึมเซา หาวนอน มึนงง สมองไม่ปลอดโปร่ง รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีอาการซึมเศร้า หดหู่ ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด และคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

ความรุนแรง "เสพติดกาแฟ"

ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณกาเฟอีนที่ดื่มในแต่ละวัน ยิ่งดื่มมาก อาการก็จะยิ่งรุนแรงมากเมื่อไม่ได้ดื่ม และสามารถเกิดอาการขึ้นได้แม้คุณจะดื่มเพียงแค่วันละ 1 แก้ว (ปริมาณกาเฟอีน 100 มิลลิกรัม) หรือเพิ่งเริ่มหัดดื่มกาแฟแค่ 3 วันเท่านั้น อาการจะเกิดขึ้นใน 12-24 ชั่วโมง หลังหยุดดื่มกาแฟ โดยอาการจะเกิดขึ้นต่อเนื่องได้ใน 2-7 วัน 

อาการ เสพติดกาแฟ จะส่งผลเสียต่อ "สุขภาพ" ทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ เช่น เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

5 วิธีแก้อาการ "เสพติดกาแฟ"

1. อย่าหยุดกาแฟทันที 

หากใครอยากเลิกเสพติดกาแฟ มีคำแนะนำจาก อ.พญ.แสงศุลี ธรรมไกรสร ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า "ให้ค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มกาแฟลดลงเรื่อยๆ ทีละน้อยในแต่ละวัน อย่าหยุดหรือลดกะทันหัน เพราะจะเกิดอาการถอนกาเฟอีนดังกล่าวได้"

ควรดื่มกาแฟกลับเข้าไปในปริมาณใกล้เคียงกับปริมาณเดิม และสามารถกินยารักษาตามอาการได้ เช่น กินยาแก้ปวดหัว ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน และยาแก้ท้องผูก หากมีอาการท้องผูกร่วมด้วย 

...

2. งดกาเฟอีนจากแหล่งอื่นๆ 

อย่าลืมว่ากาเฟอีนมีอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ เช่น ชา โกโก้ นำ้อัดลม ไอศกรีมรสกาแฟ ช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา เป็นต้น หากจะลดการดื่มกาแฟแล้ว ก็ต้องลดเครื่องดื่มและอาหารเหล่านี้ด้วย 

3. ดื่มกาแฟ Decaf

อีกหนึ่งทางเลือกคือ ลองหากาแฟประเภทที่ไม่มีกาเฟอีนมาดื่มแทน เพราะกาแฟประเภทนี้จะมีกลิ่นและรสชาติใกล้เคียงกับกาแฟปกติ แต่จะมีปริมาณกาเฟอีนที่น้อยกว่าถึง 97% นำมาดื่มสลับกับกาแฟปกติ ก็จะช่วยให้เลิกกาแฟได้เร็วขึ้น

4. หาเครื่องดื่มอื่นทดแทน

แต่ถ้าจะให้ดีก็ลองหันมาดื่มชาสมุนไพร หรือชาที่ไม่มีกาเฟอีน เช่น ชาดอกไม้ ชาเปลือกส้ม ชาคาโมมายด์ ชามินต์ เป็นต้น

5. ดื่มน้ำเปล่าช่วยขับพิษ

การโหลดน้ำเปล่าเข้าไปในร่างกายเยอะๆ ในช่วงที่คุณกำลังรักษาอาการ "ถอนกาเฟอีน" จะมีส่วนช่วยขับสารกาเฟอีนออกไปจากร่างกายได้ดีมากขึ้น ช่วยลดอาการข้างเคียงต่างๆ เช่น อาการปวดหัว ขาดสมาธิ อาการกระสับกระส่าย ช่วยให้ร่างกายและสมองสดชื่น ไม่เพลีย เป็นต้น 

...