จับตาที่ประชุมสนช. ถกร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ วาระ 3 เปิดทางเจ้าหน้าที่รัฐ สอดส่องข้อมูลโลกออนไลน์ ภัยคุกคามร้ายแรง...

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ภายหลังที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จในวาระ 2-3

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญกำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) มีหน้าที่กำหนดนโยบายบริหารจัดการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน

สำหรับกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ร้ายแรงให้ กกม.มีอำนาจออกคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวบรวมข้อมูลพยานเอกสาร พยานบุคคล เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินผล และให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปในสถานที่ ที่คาดว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามโดยได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้น รวมถึงมีคำสั่งให้หน่วยงานรัฐสนับสนุน

นอกจากนี้ กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ มาตรา 67 ให้ กมช.มอบหมายให้เลขาธิการ กมช.มีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายก่อนล่วงหน้าได้ ในกรณีร้ายแรงหรือ วิกฤติ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและลดความเสี่ยง ให้เลขาธิการ กมช.โดยความเห็นชอบของ กกม.มีอำนาจขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และต่อเนื่องจากผู้เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือ และให้ความสะดวกแก่ กกม.โดยเร็ว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อประมาณปลายปี 2561 มีความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ได้รับแรงต้านและเกิดความกังวลขึ้นในสังคมเป็นวงกว้าง เนื่องจากมองว่า ให้อำนาจคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และคณะกรรมการอื่นๆ ตามกฎหมายดังกล่าวมาก จนนายกรัฐมนตรีต้องสั่งทบทวนและมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม.

...