ตื่นเถิดชาวโซเชียล จับตา 22 ก.พ.นี้ สนช.จ่อคลอดกฎหมายไซเบอร์ ซึ่งเคยถูกกระแสต้านและไม่ไว้วางใจไปแล้ว รอบนี้ นักกฎหมายเผยไม่ต้องกังวล...

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 22 ก.พ.นี้ จะมีวาระการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ที่กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วในวาระ 2-3

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญกำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) มีหน้าที่กำหนดนโยบายบริหารจัดการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน

สำหรับกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ร้ายแรงให้ กกม.มีอำนาจออกคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์รวบรวมข้อมูลพยานเอกสาร พยานบุคคล เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินผล และให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปในสถานที่ ที่คาดว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามโดยได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้น รวมถึงมีคำสั่งให้หน่วยงานรัฐสนับสนุน

นอกจากนี้ กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ มาตรา 67 ให้ กมช.มอบหมายให้เลขาธิการ กมช.มีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายก่อนล่วงหน้าได้ ในกรณีร้ายแรงหรือ วิกฤติ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและลดความเสี่ยง ให้เลขาธิการ กมช.โดยความเห็นชอบของ กกม.มีอำนาจขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และต่อเนื่องจากผู้เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือ และให้ความสะดวกแก่ กกม.โดยเร็ว

...

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อประมาณปลายปี 2561 มีความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ได้รับแรงต้านและเกิดความกังวลขึ้นในสังคม เนื่องจากมองว่า ให้อำนาจคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติและคณะกรรมการอื่นๆ ตามกฎหมายดังกล่าวมาก จนนายกฯ ต้องสั่งทบทวนและมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นักกฎหมายเปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.วันที่ 22 ก.พ.2562 มีศาลเข้ามาควบคุมดูแลทุกขั้นตอน สามารถอุทธรณ์คำสั่งได้ มีประสิทธิภาพมากกว่าร่างเดิมและเพื่อประโยชน์คุ้มครองประชาชน.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง