สศช.รายงานผลการพัฒนาประเทศรอบ 5 ปี จากปี 2557-2561 พบการพัฒนาเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งขึ้น จีดีพีขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่าจีดีพีเพิ่มจาก 13 ล้านล้านบาท เป็น 16 ล้านล้านบาท ยังต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่พุ่งสูงถึง 763,165 ล้านบาท การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลังหยุดนิ่งมา 10 ปี ปรากฏว่า ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน มีเงินลงทุน 2.44 ล้านล้านบาท แจงไม่ต้องกังวลหนี้ครัวเรือน ยังอยู่ในวิสัยที่รับได้
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช. ได้จัดทำรายงานผลการพัฒนาประเทศไทยในรอบ 5 ปี (ปี 2557-2561) ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และต่อไปจะจัดทำแบบนี้ทุกๆปีเพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพการพัฒนาประเทศย้อนหลังไปทุกๆ 5 ปี และเพื่อให้เห็นว่าปัญหาหลัก ของประเทศไทยที่ผ่านมาอยู่ตรงไหน มีอะไรต้องพัฒนาและแก้ไข เพื่อวางอนาคตในระยะต่อไป
“ปัญหาหลักของประเทศไทยมีอยู่ 2 ด้านคือ 1.ขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่ยังต้องปรับปรุง 6 ตัว ให้ขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ระบบราชการ โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทักษะของคน และการพัฒนานวัตกรรม 2.ความเท่าเทียมและโอกาสของคนไทย ซึ่ง World Economic Forum ยังจัดให้ไทยเป็นประเทศที่เน้นการผลิต ทำงานหนัก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศรายได้ปานกลาง แต่ถ้าหากเราสามารถขับเคลื่อนประเทศโดยใช้นวัตกรรม ก็จะสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งตรงกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0”
ขณะที่ภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีความแข็งแกร่งขึ้นและขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัว 1% ในปี 2557 เป็น 3% ในปี 2558 และ 3.3% ในปี 2559 ต่อด้วย 3.9% ในปี 2560 และคงอยู่ที่ 4.2% ในปี 2561 ส่วนปี 2562 ประมาณการไว้ 4% และมูลค่าจีดีพีในปี 2557 จาก 13 ล้านล้านบาท ได้เพิ่มเป็น 16 ล้านล้านบาท ในปี 2561 ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่ชะลอตัวเหลือ 3.7% รวมทั้งปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ตลอดจน ปัญหาการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิต) และอัตราดอกเบี้ยโลก
สำหรับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย จากการมีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงได้มีการสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้เกิดขึ้น และเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม New S-Curve ระหว่างปี 2558 -2561 ถึง 763,165 ล้านบาท พร้อมกันนี้โครงการไทยแลนด์ 4.0 ได้สร้างความได้เปรียบในเชิงแข่งขันโดยใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ขณะที่การส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทำให้มีจำนวนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 ที่ 39.7% มาอยู่ที่ 42.6% ในปี 2561 และยังต้องส่งเสริมต่อไป เพราะประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องมีสัดส่วนเอสเอ็มอีอยู่ที่ 60-70% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวของไทยก็ติดอันดับโลก โดยเป็นอันดับ 1 ของจุดหมายปลายทางที่คนอยากมามากที่สุด เป็นอันดับ 10 ของประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด และเป็นอันดับ 4 ของประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุดของโลก และเมื่อเทียบย้อนหลังไปปี 2551 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14 ล้านคน เมื่อผ่านไป 10 ปี มีถึง 40 ล้านคน และด้านการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ได้ในการเร่งลงทุนหลังจากหยุดนิ่งมา 10 ปี ปรากฏผลการขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบันมีเงินลงทุนแล้ว 2.44 ล้านล้านบาท มีการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 2.83 ล้านไร่ มีการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติและเปิดประมูลสัมปทานที่จะหมดอายุ ช่วยลดต้นทุนพลังงานลง 500,000 ล้านบาท และลดการนำเข้าก๊าซหุงต้ม
พร้อมกันนี้ มีการดูแลเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชน เกิดพื้นที่เกษตรกรรมแปลงใหญ่เป็นครั้งแรก ในพื้นที่สำเร็จแล้ว 5.41 ล้านไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วม 315,897 ราย ขณะที่เศรษฐกิจภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จะเว้นแต่ภาคใต้ที่มีปัญหาราคายางพาราและปาล์มน้ำมันตกต่ำ ทำให้ดึงตัวเลขรายได้ภาพรวมของภาคการเกษตรลงมา
“ประเด็นสำคัญที่สนใจกันมากคือหนี้ครัวเรือนของไทย ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เพิ่มขึ้น แต่เป็นอัตราเพิ่มที่ทรงตัว โดยปี 2557 อยู่ที่ 79.7% ต่อจีดีพี ปี 2558 อยู่ที่ 81.1% ปี 2559 อยู่ที่ 79.7% และปี 2560 อยู่ที่ 78.3% ถือว่าไม่น่าตกใจมาก และยังพบว่า 16.7% เป็นหนี้เพื่อธุรกิจที่สร้างรายได้ในอนาคต และมีหลักประกัน ซึ่งไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ส่วนที่เหลือเป็นหนี้เพื่อการบริโภค โดยครึ่งหนึ่งเป็นการซื้อที่อยู่อาศัย และอีกส่วนหนึ่งเป็นการเช่าซื้อรถยนต์ จะมีหนี้ที่กู้มาเพื่อการบริโภคจริงๆ 25.8% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ มาเลเซีย สิงคโปร์”.