พระลูกศิษย์ มอบพระปิดตา หลวงพ่อคูณตำสารเองกับมือ ขอบคุณคณะทำงานมข. ด้านคณบดีศิลปกรรมฯ เผยชีวิตนี้นอนตายตาหลับแล้ว หลัง “ยายคำมั่น”โผกอด ขอบคุณที่ทำงานถวายหลวงพ่อตามพินัยกรรม

วันที่ 31 ม.ค.2562 ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นหรือ มข. พระครูคชสารวรานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดหนองหัวช้างชัยรังสี เจ้าคณะตำบลด่านนอก อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้มอบพระปิดตา รุ่น “คูณลาภ” ซึ่งพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้ลงมือตำผสมมวลสารด้วยตนเองในการสร้างวัตถุมงคล เมื่อปี 2517, เหรียญที่ระลึกพิธีถวายเพลิงสรีระธาตุขันธ์ หลวงพ่อคูณ ที่วัดบ้านไร่ ได้จัดทำขึ้นเมื่อปี 2562 หรือที่เรียกว่ารุ่นพินัยกรรม รวมไปถึงเงินขวัญถุงและภาพหลวงพ่อคูณให้กับ รศ.ดร.นิยม วงษ์พงศ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. เพื่อแทนคำขอบคุณให้กับคณะทำงานในงานพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่และครูใหญ่หลวงพ่อคูณ เป็นกรณีพิเศษ ประจำปี 2561 รวมไปถึงพิธีถวายเพลิงหลวงพ่อคูณ ที่ฌาปนสถานชั่วคราววัดหนองแวงพระอารามหลวง ภายในเกาะกลางน้ำด้านหลังพุทธมณฑลอีสาน และการลอยอังคารลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นขั้นตอนการดำเนินการที่หลวงพ่อคูณ ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม แล้วเสร็จในภาพรวมทั้งหมด

...

รศ.ดร.นิยม วงษ์พงศ์คำ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ นั้นแล้วเสร็จทั้งหมดตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ซึ่งโดยส่วนตัวนั้นในฐานะหัวหน้าคณะทำงานในการสร้างเมรุชั่วคราวในการถวายเพลิงสรีรสังขารของหลวงพ่อคูณ ที่ได้ร่วมกับคณะทำงานจากทุกภาคส่วนหลายร้อยชีวิต วางแผนการดำเนินงานร่วมกันตั้งแต่ท่านละสังขาร ที่ทุกคนต้องระดมความคิด ระดมสมอง ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันแก้ปัญหา รับฟังทุกเหตุผลและทุกเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามพินัยกรรมที่หลวงพ่อกำหนด โดยคณะทำงานในการถวายเพลิงต้องร่วมกันถอดแบบพินัยกรรมของหลวงพ่อ ที่ท่านได้บันทึกคลิปวิดีโอเอาไว้และได้ทำพินัยกรรมไว้เป็นหลักฐาน จนได้ข้อสรุปในการที่จัดสร้างเมรุชั่วคราว ซึ่งก็คือนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกบนยอดเขาพระสุเมรุ ตามที่สาธุชนทั่วโลกได้เห็นและรับทราบกันไปแล้ว

วันนี้ งานต่างๆ แล้วเสร็จ คือเมื่อนกถูกเผาไปพร้อมกับสรีรสังขารของท่าน งานของเราก็เสร็จ เพราะการเก็บอัฐิและลอยเถ้าอังคารนั้นความรับผิดชอบของคณะแพทยศาสตร์ ทั้งนี้ ในการทำงานที่ผ่านมา คณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้ประสานการทำงานร่วมกันุทกฝ่าย มีการหารือร่วมกับ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มข., รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์, รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น, รวมไปถึงผู้ที่รับผิดชอบรวมทั้งลูกศิษย์ในหลวงพ่อคูณมาโดยตลอดและคุยกันทุกวันตั้งแต่ได้รับมอบหมายงานสำคัญนี้มา

"แต่ที่ทำให้ผมโล่งใจและสบายใจที่สุดถึงขั้นกับว่าหายเหนื่อยและนอนตายตาหลับแล้วในชีวิตนี้ คือการที่คุณยายคำมั่น วงศ์กาญจนรัตน์ อายุ 94 ปี น้องสาวของหลวงพ่อคูณ ที่ในวันถวายเพลิงและในวันเก็บเถ้าอัฐิหลวงพ่อคูณนั้นคุณยายได้ถามว่าใครสร้างนกฯ ตัวนี้ จากนั้นท่านอธิการบดีฯ ได้ให้ผมเข้าพบ ยายคำมั่นได้โผเข้ามากอดผม ซึ่งผมสัมผัสได้ถึงอ้อมกอดของคุณยายที่มอบความจริงใจ อบอุ่น และบอกผมว่า ขอบใจหลายๆ เด้อ ที่ทำให้หลวงพ่อ ทำให้กับคนโคราช ในครั้งนี้ ซึ่งผมได้ยินเท่านี้ผมและคณะทำงานทุกคนหายเหนื่อยจากงานที่ทำมาและเตรียมงานกันมากว่า 3 ปี และที่สำคัญคือผมนอนตายตาหลับแล้วกับการที่ได้ทำงานถวายพระเถรานุเถระที่ท่านเป็นที่รักและเคารพของสาธุชนทั่วทั้งโลก ที่ได้เลือก มข. ในเกียรติอันสูงสุดนี้”

รศ.ดร.นิยม กล่าวต่อว่า วันนี้ชื่อของ มข. ได้ปักหมุดในความเป็นมหาวิทยาลัยที่คงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอีสานได้อย่างลงตัว ครบถ้วนและสมบูรณ์แบบที่สุด และที่สำคัญคือตนเองนั้นไม่อายที่จะบอกว่าเป็นคนอีสานและเชื่อว่าคนอีสานทุกคนจะภาคภูมิใจกับการที่หลวงพ่อคูณ ท่านได้สร้างวิทยาทานให้กับคนทั่วทั้งโลกได้รับทราบถึงขนบอีสาน ในการถวายเพลิงพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ นกหัสดีลิงค์ หรือนกตะใครลิง ในภาษาอีสานเดิมอาจจะไม่มีใครรู้จัก แต่วันนี้ขนบอีสาน ศาสตร์อีสานและวัฒนธรรมอีสานนั้นได้กลับมาเป็นที่รู้จักและเป็นที่คนทั้งโลกให้ความสนใจและต้องการที่จะเรียนรู้ในขนบดังกล่าวอีกครั้ง