กายหยาบของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ล่องลอยแม่น้ำโขงไปในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2562 แต่กายละเอียดและธรรมของท่าน ยังอยู่ตลอดไป
พระมหาอ้าย ธีรปัญโญ (ป.ธ.6, พธ.บ., M.A., M.Phil., Ph.D) วัดนาคปรก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม อาทิ ปริศนาภารตะ อินเดียทำไม ทำไมอินเดีย ในฐานะพระปัญญาชนรุ่นใหม่มอง “หลวงพ่อคูณ” อย่างไร ท่านเป็นพระของชาวบ้าน เกิดในครอบครัวชาวนาของหมู่บ้านบ้านไร่ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ชีวิตก่อนบวชยุคสมัยนั้นถือว่าลำบากมาก ตามประวัติบอกว่า โยมแม่เสียชีวิตตั้งแต่เด็กๆท่านก็เลยกลายเป็นหลักแก่ครอบครัว จนกระทั่งได้บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา ท่านก็มีวัตรปฏิบัติสันโดษ ฉันง่าย อยู่ง่าย เรียบง่าย มีเมตตาต่อมนุษย์ ช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์ยากลำบาก ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และมีความเป็นพระเกจิชื่อดังเป็นขวัญกำลังใจของมหาชนชาวบ้านสูงมาก
ดังคำที่หลวงพ่อคูณกล่าวไว้ว่า “กูดีใจที่เกิดมาเป็นคนจน เพราะได้สร้างทานบารมี ถ้ากูเกิดมาเป็นคนรวย ป่านนี้คำว่า บุญ ก็ไม่รู้จัก” หากจะมองในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา กล่าวโดยเฉพาะชื่อ แค่คำว่า ‘คูณ’ สั้นๆง่ายๆความหมายดี ไม่ต้องตีความ คำนี้คำเดียวก็เป็นที่หลั่งไหลมาของสิริมงคล เป็นที่ตั้งแห่งความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยิ่งนามฉายาว่า ‘ปริสุทฺโธ’ แปลว่า ผู้บริสุทธิ์ก็ส่งให้เห็นตัวตนในความเป็นเลิศของหลวงพ่อคูณ มีความชัดเจนตามฉายาที่พระอุปัชฌาย์ตั้งถวายในวันอุปสมบท
...
หลวงพ่อคูณได้เจริญชีวิตสมณะอย่างบริสุทธิ์งดงาม สะอาดทั้งกายบริสุทธิ์ทั้งใจ ไม่มีนอกไม่มีใน ไม่เป็นอะไรในอะไรตามกระแสโลก เป็นพระเถระที่ชาวบ้านกราบไหว้ได้สุดมือสุดหัวใจรูปหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยทีเดียว ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะหลวงพ่อเป็นพระไม่มีมายา หน้าตาบ้านๆซื่อๆตรงๆไม่โค้งไม่งอ ไม่โลภไม่หลง ไม่ลืมไม่ติดในลาภยศสรรเสริญ ถึงจะมีแต่ท่านก็ไม่ยึดติด หลวงพ่อก็บอกตัวท่านเสมอว่า “เป็นพระธรรมดา” ไม่ได้วิเศษวิโสอะไรเลยจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าหลวงพ่อจะเป็นพระครูเป็นพระราชาคณะชั้นไหน ชาวบ้านก็ยังเรียกว่า “หลวงพ่อคูณ” ด้วยความเคารพ อีกอย่างหลวงพ่อคูณมีปฏิปทาน่าเลื่อมใสคือเป็นพระที่ผู้คนเข้าพบเข้าถึงได้ง่ายไม่ถือยศศักดิ์ไม่ถือตัว “สมัยอาตมาเป็นเณรน้อยยังมีโอกาสเข้าไปกราบทำบุญกับหลวงพ่อที่วัดบ้านไร่ ท่านเมตตาอนุญาตให้เข้าไปกราบขอพรถึงภายในมุ้งที่ท่านจำวัด จำได้ว่าทำบุญกับหลวงพ่อ 40 บาท หลวงพ่อคืนให้ 20 บาท พร้อมกับบอกว่า ‘ลูกหลานเอ้ย มึงให้ เงินกูมา กูให้เงินมึงคืนไป เงินเป็นทาสกู กูไม่ยอมเป็นทาสเงิน กูให้พวกมึงละบาปทำบุญเด้อ’”
นี่เป็นปกติธรรมดาของหลวงพ่อคูณผู้เสมอต้นเสมอปลายต่อพุทธศาสนิกชนทุกภาคส่วน และก็ปฏิบัติเช่นนี้จนถึงวาระสุดท้ายชีวิต
หลวงพ่อคูณเป็นพระผู้ทำคุณประโยชน์ ท่านกล่าวไว้ว่า “การทำตัวให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่นั้นง่าย แต่จะสร้างสมบุญให้มีบารมีนั้นเป็นเรื่องยาก...ต้องเป็นผู้ให้ด้วยธรรมอันบริสุทธิ์จริง” ท่านเกิดมาเพื่อเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่จริงๆ เห็นได้จากการให้แก่วัดวาอารามพระพุทธศาสนา ผ่านการสร้างอุโบสถ ศาลา วิหาร เจดีย์ ฌาปนสถาน กุฏิ ไม่รู้กี่แห่งกี่วัดทุกย่านตำบลอำเภอของจังหวัดโคราช หรือแผ่บารมีถึงวัดถิ่นใกล้เคียงอีกมากมาย ตลอดถึงความเมตตาในพรหมวิหารธรรมที่หลวงพ่อคูณแผ่บุญไปถึงหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน ผ่านการสร้างโรงพยาบาล สถานีอนามัย โรงเรียน มหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถานีตำรวจ ถนนหนทาง เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ช่วยชีวิต และเวชภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนและประชาชนทั้งนั้น
เหตุการณ์สำคัญเป็นที่จดจำของชาวพุทธจนถึงทุกวันนี้ก็คือ หลวงพ่อคูณถวายเงินแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้ง 2 คราว รวมเป็นจำนวนเงิน 172 ล้านบาท นับว่าหลวงพ่อคูณเป็นศูนย์รวมความดีของสังคมทุกระดับชั้นอย่างแท้จริง ดูสิแม้กระทั่งสังขารร่างกายของท่านก็ยังเสียสละให้เป็นทานเป็นแหล่งกรณีศึกษา เป็น “หลวงพ่อใหญ่” ให้คณาจารย์นักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาสรีรยนต์กลไกเชิงมหกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งเป็นประโยชน์สูงต่อวงการแพทย์ แล้วจะมีพระผู้ใหญ่สักกี่รูปที่คิดได้และทำได้อย่างหลวงพ่อ เมื่อมองทุกสรีระองคาพยพของหลวงพ่อคูณแล้ว เชื่อด้วยความดีที่ท่านปฏิบัติตั้งแต่แรกเกิดกระทั่งทิ้งธาตุวางขันธ์
นับได้ว่าหลวงพ่อคูณเป็นปูชนียบุคคลผู้เกิดมาเพื่อเป็นกัลยาณมิตรของพหูชนจริงๆ คือท่าน ‘มีเพื่อให้ ได้เพื่อแจก แบกเพื่อสบาย ตายเพื่ออยู่ รู้เพื่อทำ นำเพื่อพ้น’
หลวงพ่อคูณเป็นพระผู้เป็นประวัติศาสตร์ ท่านเป็นพระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทยที่พุทธศาสนิกชนคนไทยผู้เกิดร่วมสมัยได้ทันเห็น ทั้งในแง่ความมีตัวตนอันแท้จริงและความดีอันงดงามของหลวงพ่อคูณ ซึ่งชาวพุทธควรจะเรียนรู้และศึกษาเป็นสังฆานุสติ โดยผ่านการบูชาทั้ง 3 ประการ คือ “บูชารูป บูชาร่าง บูชารอย” การ “บูชารูป” ในที่นี้หมายเอาวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณ ซึ่งสร้างไม่รู้กี่รุ่น เสกไม่รู้กี่งาน ผ่านไม่รู้กี่วัด ผลัดไม่รู้กี่องค์กรที่ขออนุญาตผ่านหลวงพ่อคูณเพื่อออกเหรียญ สร้างพระบูชาทั้งเล็กใหญ่ตามกำลัง อัดรูปใส่กรอบ เลี่ยมเหรียญห้อยคอ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นระลึกนึกถึง เป็นเครื่องรางของขลัง เป็นกำลังใจให้ผู้ครอบครอง หรือเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนเชิงพุทธพาณิชย์แปรจากวัตถุมงคลเป็นเงินทองแล้วนำไปก่อการสร้างสิ่งสารพันประโยชน์ต่างๆตามแต่เจตนาประสงค์ของผู้คนที่ได้รับอนุญาต
...
กล่าวเฉพาะพระสงฆ์สายศักดิ์สิทธิ์พระเถระผู้เป็นเกจิอาจารย์ทรงความขลังดังจริงที่ทุกคนศรัทธาเลื่อมใสมากสุดในประเทศไทย สายภาคเหนือมีครูบาศรีวิชัย สายภาคใต้มีหลวงปู่ทวด สายภาคกลางมีสมเด็จโต สายอีสานน่าจะเป็นหลวงพ่อคูณหนึ่งเดียวเท่านั้น ในเรื่องวัตถุมงคลนี้หลวงพ่อคูณเน้นย้ำว่า “พระไม่ได้อยู่กับคนชั่วแต่อยู่กับคนดี ให้นึกว่าพระมากับเราจะทำชั่วไม่ได้ อย่าทำตัวผิดศีลธรรม ผิดจารีตประเพณี โดยเฉพาะการทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท” ประการต่อมาก็คือ “บูชาร่าง” ก็หมายถึงการที่ผู้คนได้เข้าไปพบปะสนทนา ฟังเทศน์ฟังธรรม กราบไหว้ขอศีลขอพร หรือแม้กระทั่งการได้เห็นร่างกายของหลวงพ่อคูณขณะมีลมหายใจอยู่ก็นับเป็นทัสนานุตริยะแล้ว โดยเฉพาะท่านั่งยองๆให้พรเป็นภาษากูมึงแบบโบราณ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์พิเศษหนึ่งเดียวในโลกเท่านั้น จะป่วยกล่าวไปไยถึงสังขารร่างกายที่ปราศจากวิญญาณ ที่หลวงพ่อแสดงออกถึงความเป็นผู้มีปัญญาอย่างแท้จริง ได้ส่งมอบเป็นพินัยกรรมให้เป็นสมบัติและเป็นกรณีศึกษาในฐานะอาจารย์ใหญ่ของทุกคน นับว่าหลวงพ่อคูณเมื่อมีชีวิตอยู่ก็ใช้ร่างกายบำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา มรณภาพจากโลกนี้ไปก็มอบสรีรสังขารไว้บำเพ็ญกุศลมหาศาลต่อประเทศชาติ
...
ประการต่อมาก็คือการ “บูชารอย” หมายถึงการฝากรอยคุณงามความดี รอยศีล รอยธรรมให้หมู่คนได้เดินตาม โดยผ่านกระบวนการ “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส ปฏิบัติให้จริง ทิ้งให้หมด” หลวงพ่อคูณเป็นพระเถระที่ใช้คำพูดคำเทศน์สั้น กระชับ เข้าใจง่าย เข้าถึงใจคน ผู้ฟัง กินคำอมความ และมีความหมายกินใจลึกซึ้ง ถึงแม้บางคำพูด เช่น มึง กูจะไม่น่าฟังสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้าคำนี้ผ่านวาจาของหลวงพ่อคูณแล้ว นับเป็นคำพูดที่แฝงด้วยธรรมะลึกซึ้ง ฟังแล้วสบายใจ และเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าวัตถุมงคลใดๆ
จึงกล่าวได้ว่าหลวงพ่อคูณเป็นบุคคลผู้เป็นประวัติศาสตร์ของ ประเทศไทยและด้วยความดีของหลวงพ่อคูณ ซึ่งยากจะพรรณนาได้หมดสิ้น ไม่แน่ว่าอนาคตข้างหน้าอาจจะกลายเป็นบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ว่า “เป็นบุคคลสำคัญของโลก” คนต่อไปก็ว่าได้
ในแง่ของความเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อคูณท่านเป็นปราชญ์แห่งที่ราบสูง เป็นแบบอย่างให้พระสงฆ์ในยุคปัจจุบันควรถือเอาเป็นแบบอย่าง คือ ท่านเป็นพระชาวบ้าน อยู่กับชุมชน เข้าใจชุมชน ช่วยเหลือชุมชน แต่จากไปอย่างบัณฑิตชน เห็นได้จากงานที่ท่านสร้าง และคำสอนให้พระภิกษุสามเณรรุ่นใหม่ถือเป็นแบบอย่าง เช่น “ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมดมันยิ่งได้” หรือ “กูจะทำให้ชาวบ้าน เพื่อตอบแทนข้าวน้ำที่เขาให้กูกินทุกวัน”
ด้วยความเป็นพระเข้าหาง่ายไม่มีพิธีรีตองอะไรยุ่งยาก หลวงพ่อคูณท่านสอนไม่ให้ชาวพุทธยึดติดในความศักดิ์สิทธิ์หรือหลงใหลในความวิเศษอะไรของท่าน นี่แหละคือความศักดิ์สิทธิ์ชีวิตของพระผู้เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสอย่างไม่เสื่อมคลายจนถึงปัจจุบัน หลวงพ่อคูณไม่เพียงสอนให้คนฟังตามเท่านั้น
แต่ที่สำคัญท่านทำให้ดู “ความเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ตายของหลวงพ่อคูณ ก็คืออนุสาวรีย์ความดีที่ท่านทำไว้นั่นเอง” พระมหาอ้าย สรุปท้ายอย่างกระชับชัด.
...