ให้กทม.เป็นพื้นที่ควบคุม ถ้าหากเกิดวิกฤตินาน 3 วัน บิ๊กตู่ย้ำ 9 มาตรการเร่งด่วน
นายกฯออกแถลงการณ์ยันไม่นิ่งนอนใจแก้ปัญหาฝุ่นละอองปกคลุมทั่วกรุงและปริมณฑล ออก 9 มาตรการเร่งด่วน ทั้งเพิ่มความถี่ฉีดพ่นน้ำ ล้างถนน แจกหน้ากากอนามัย N95 เข้มงวดจับรถควันดำ ส่วนคมนาคมเร่ง ขสมก.เปลี่ยนการใช้นํ้ามันดีเซล B7 มาเป็นน้ำมันดีเซล B20 ด้านกรมควบคุมมลพิษจัดด้วย ชงออกประกาศ สธ.คุมฝุ่นพิษ กทม.ให้อำนาจผู้ว่าฯ กทม.ยุติกิจกรรมก่อมลพิษ หากเอาไม่อยู่ ส่อห้าม ขรก. ขับรถส่วนตัวมาทำงาน พร้อมย้ำยังไม่อยากประกาศเขตควบคุมมลพิษ เหตุอาจกระทบภาพลักษณ์ประเทศ ด้าน “ทักษิณ” โชว์แก้ปัญหาฝุ่นพิษ ปรับแผนใช้รถยนต์-แนะเกษตรกรขังน้ำตอข้าวแทนเผา
คนกรุงเทพมหานครและอีกหลายจังหวัดรอบกรุง ยังต้องผจญกับมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อเนื่องไปอีก โดยเมื่อวันที่ 21 ม.ค.กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สรุปสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ยังคงมีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ในบางช่วงเวลา ได้แก่ บริเวณริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน, แขวงบางนา เขตบางนา, แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ, แขวงดินแดง เขตดินแดง, ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน, ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี, ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง, แขวงพญาไท เขตพญาไท, แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง, ส่วนในปริมณฑล มี จ.นครปฐม ที่ ต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม จ.นนทบุรี ที่ ต. บางกรวย อ.บางกรวย, จ.ปทุมธานี ที่ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง, จ.สมุทรปราการ ที่ ต.ทรงคนอง ต.ตลาด อ.พระประแดง, ต.ปากน้ำ อ.เมือง, ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง, จ.สมุทรสาคร ที่ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน และ ริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมือง
...
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษระบุสาเหตุว่ามา จากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ในช่วงเช้า อากาศลอยตัวไม่ดี มีสภาพอากาศปิด ลมสงบ ความเร็วลมส่วนใหญ่ต่ำกว่า 1.8 กม./ชม. มีหมอกในตอนเช้า ไม่มีฝน ส่งผลทำให้สถานการณ์ PM 2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล คุณภาพอากาศในภาพรวมอยู่ในระดับ “เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ” มีปริมาณฝุ่นละอองสูงขึ้น
ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง “สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน” ผ่านเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจได้เร่งสั่งการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรีบแก้ไขและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ สัปดาห์ที่ผ่านมาจัดตั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศเพื่อประเมินสถานการณ์คุณภาพอากาศทุกวัน สั่งการกรมควบคุมมลพิษประสานงานกับ กทม.และปริมณฑล ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างต่อเนื่องโดยย้ำให้ดำเนิน 9 มาตรการเร่งด่วน ดังนี้
1.เพิ่มความถี่กวาดล้างทำความสะอาดถนนและฉีดพ่นน้ำในอากาศตั้งแต่เวลา 18.00-06.00 น. ทุกวัน จนกว่าฝุ่นละอองจะลดลงอยู่ในระดับมาตรฐาน
2.แจกหน้ากากอนามัย N95 ในพื้นที่สวนลุมพินี บางคอแหลม จตุจักร บางกะปิ บางขุนเทียน โดยจะให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย คนชรา เด็กและผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับแหล่งกำเนิดฝุ่น
3.เข้มงวดตรวจจับรถควันดำอย่างเคร่งครัด
4.จัดตั้งคณะกรรมการร่วมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า เร่งคืนพื้นผิวการจราจรปรับพื้นที่ผิวถนนให้กว้างขึ้นบีบหรือลดพื้นที่การก่อสร้างบนพื้นผิวการจราจรให้แคบลง
5.จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอาคารสูงและระบบสาธารณูปโภคโดยผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นละอองให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
6.แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดเข้มงวดมิให้มีจอดรถริมถนนสายหลัก
7.เข้มงวดมิให้เผาขยะและเผาในที่โล่ง
8.รณรงค์ไม่ให้ติดเครื่องยนต์ขณะจอด
และ 9.ปฏิบัติการฝนหลวงและใช้โดรนพ่นน้ำผสมสารเคมีเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง โดยทำควบคู่กับการวางแนวทางดำเนินการระยะยาว ทั้งการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล B20 โดยจะมีสถานีให้บริการปรับแต่งเครื่องยนต์ รักษาคุณภาพรถยนต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5/6 ผลักดันให้ใช้รถโดยสารที่ใช้แก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง รถไฟฟ้าไฮบริด เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้า พร้อมทั้งโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบโดยเร็ว
...
นายกฯกล่าวว่า ขอให้ทุกคนติดตามข่าวสาร ตรวจสอบค่าฝุ่นละออง ปฏิบัติตามคำแนะนำ เตรียมการเพื่อป้องกันตัวเองก่อนออกจากบ้าน ผู้มีผลกระทบเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ ผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่สูบบุหรี่ประจำต้องปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด มีข้อสงสัยสอบถามที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1142
จากนั้นเวลา 17.40 น. นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมหน่วยงานต่างๆ ถึงสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 และมาตรการป้องกันว่า ผลการหารือได้ข้อสรุป 3 แนวทางเพื่อนำเสนอต่อ รมว.ทรัพยากรฯ เพื่อนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาต่อไป คือ ขอให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการตามแนวทางที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุม โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เช่น ทาง บก.จร.มีด่านตรวจวัดควันดำ 20 จุดในพื้นที่รอบนอก กทม. จากนี้จะเพิ่มหน่วยเคลื่อนที่อีก 5 หน่วย เพื่อดำเนินการในพื้นที่ กทม.ชั้นในและจุดที่ได้รับร้องเรียนในเรื่องค่าฝุ่นละออง ขณะที่กรมการขนส่งทางบก เร่งตรวจรถโดยสาร ขสมก.โดยทำไปแล้ว 1,500 คัน และเร่งทำให้ครบโดยเร็ว ขณะที่กรมฝนหลวงจะเร่งทำฝนหลวงอย่างเข้มข้นในช่วง 7 วันนี้ เพิ่มจุดทำฝนหลวงเป็น 2 จุด คือจากในพื้นที่ จ.ระยอง เป็น จ.นครสวรรค์ด้วย ยืนยันว่าการทำฝนหลวงและฉีดน้ำนั้นช่วยลดค่าฝุ่น PM 2.5 ได้
...
นายประลองกล่าวอีกว่า หากค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ยทั่วทั้งพื้นที่ กทม.เกิน 90 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน ทางอธิบดีกรมอนามัย และรองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ร่วมประชุมในวันนี้เสนอให้มีมาตรการควบคุมการจราจร และการก่อสร้างที่เข้มข้นขึ้น ให้เริ่มจากหน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น อาจห้ามข้าราชการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน เพื่อลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน ซึ่งจะต้องขอความเห็นชอบจากแต่ละหน่วยงาน ขณะนี้ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม.ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์อยู่ที่ 80 มคก./ลบ.ม. และหากดำเนินการตามมาตรการต่างๆแล้วค่าฝุ่นละอองยังไม่ลดลง จะให้กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พ.ศ.2561 ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 ระบุว่าหากเกิดปัญหาที่สร้างความรุนแรงและมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รมว.สาธารณสุข สามารถออกประกาศดังกล่าว มอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ กทม.ในการออกประกาศ กทม.เพื่อให้แหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษหยุดกิจกรรมใดๆได้ ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจตามประกาศนี้อยู่แล้ว
...
อธิบดี คพ.กล่าวอีกว่า สำหรับการเสนอให้ออกประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่ กทม.ตามมาตรา 9 พ.ร.บ. ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม 2535 นั้น เรามองว่าเราแก้ไขปัญหาตาม 3 ขั้นตอนข้างต้นก่อน ถ้าเราจะประกาศอะไรรุนแรงออกมาต้องคิดถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้วย หลายอย่างต้องดูว่าถ้าประกาศไปแล้วจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ กทม.ขนาดไหน วันนี้เรากำลังส่งเสริมการท่องเที่ยว และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ ไม่อยากทำอะไรที่รุนแรงเกินไปและสำคัญที่สุดคือเกิดผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องใช้รถใช้ถนนในการเดินทาง ยืนยันว่าเราไม่ได้ห่วงภาพลักษณ์ของประเทศมากกว่าสุขภาพของประชาชน ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าตัวเลขผู้ป่วยจากสถานการณ์นี้ยังไม่ได้เพิ่มขึ้น ต้องยึดตามข้อมูลทางวิชาการด้วย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า กทม. กังวลเรื่องปริมาณฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลถึงประชาชนเจ็บป่วยจำนวนมาก ทำให้ กทม.จะเสนอให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ประกาศให้พื้นที่ กทม.เป็นเขตควบคุมมลพิษนั้น แหล่งข่าวจาก คพ.เปิดเผยว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ไม่ใช่เรื่องทำกันง่ายๆรวมทั้งไม่มีเจ้าของพื้นที่ใดต้องการให้พื้นที่ตัวเองถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพราะจะมีความยุ่งยากในการจัดการพื้นที่มาก และการกำหนดเขตควบคุมมลพิษเป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อปรากฏเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คือถ้าปรากฏว่าท้องที่ใดมีปัญหามลพิษ มีแนวโน้มว่าจะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การประกาศให้พื้นที่ใดเป็นเขตควบคุมมลพิษ จะมีการพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและสังคมประกอบด้วย รวมถึงต้องคำนึงถึงศักยภาพของท้องที่ที่จะประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษด้วยว่า สามารถควบคุม ลด ขจัดมลพิษได้มากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นหลักประกันว่า เมื่อมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม หากเห็นได้ชัดว่าท้องที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอ ก็ควรใช้มาตรการอื่นเพื่อควบคุม ลด และขจัดมลพิษแทน” แหล่งข่าวจาก คพ.กล่าว
สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวที่จะมีการปรับเปลี่ยนน้ำมันเชื้อเพลิงของรถขนส่งสาธารณะนั้น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จะเน้นไปที่ระบบรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ได้เร่งเปลี่ยนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล B7 มาเป็นน้ำมันดีเซล B20 จะช่วยลดมลพิษและฝุ่นละออง PM 2.5 ขสมก.ได้เริ่มใช้แล้ว จำนวน 815 คัน ที่เหลืออีก 1,260 คัน จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ส่วนของการจัดหารถในอนาคตจะเน้นเป็นระบบไฟฟ้าและระบบไฮบริด เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน ลดภาวะโลกร้อน และคาดว่าในอนาคตจะมีแผนลดการใช้น้ำมันดีเซล ที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเรื่องสภาพอากาศ แต่จะต้องหารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน เนื่องจากปัจจุบันรถบางรุ่นยังจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซลอยู่ อาทิ ในภาคการขนส่ง อาจจะต้องพิจารณาในระยะยาวว่าจะทำอย่างไรให้ดีเซลเป็นน้ำมันสะอาด เพราะจำนวนรถที่ใช้น้ำมันดีเซลในประเทศไทยมีปริมาณมากกว่าต่างประเทศ ทั้งรถกระบะ รถยนต์ส่วนบุคคล และรถสาธารณะ เป็นต้น ส่วนการใช้แนวทางการวิ่งสลับวันให้บริการของรถเมล์ เพื่อลดมลพิษเช่นเดียวกับต่างประเทศนั้น ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการดังกล่าว
วันเดียวกัน นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ได้แนะนำประชาชนที่เริ่มเครียดและวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานในขณะนี้ว่า ให้เลือกเสพข่าวจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น หน่วยงานที่ดูแลด้านมลพิษ หน่วยงานด้านสาธารณสุข เป็นต้น อย่าไปเชื่อข่าวสารที่มาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น มีคนไม่หวังดีออกมาปล่อยข่าวว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กทำให้มีคนเสียชีวิต เป็นเรื่องที่ไม่จริง ทั้งนี้ ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่ต้องตื่นตัว ซึ่งการป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก หากมีการเตรียมตัวที่ดี อุปกรณ์ป้องกันพร้อม ก็จะช่วยลดความเครียด ความกังวลได้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันเดียวกัน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในรายการ Good Monday ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก “รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ตอนที่ 2” ถึงปัญหามลพิษทางอากาศที่มีฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอนนั้นสร้างความเสียหาย 2 ส่วน คือสุขภาพอนามัยของคนไทยและเศรษฐกิจ พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไขระยะยาว คือการส่งเสริมให้บริษัทรถยนต์ที่ผลิตอยู่ในไทย มาผลิตรถไฟฟ้าให้ได้ ต้องมีนโยบายและแผนที่ชัดเจน แต่ไม่ทำให้คนที่มีรถเครื่องยนต์ธรรมดาต้องเดือดร้อน พร้อมกับลดการเผาชีวมวล ที่เกษตรกรมักเผาตอข้าว แทนที่จะขุดหรือขังน้ำไว้ให้เน่าและกลายเป็นปุ๋ย ซึ่งต้องรณรงค์ให้เกษตรกรเข้าใจว่าทำแบบนี้ดีกว่า และเป็นประโยชน์ด้วย สำหรับเมืองดูไบที่ตนอยู่ แม้จะมีฝุ่นเป็นอันดับ 10 ของโลก แต่เกิดจากพายุทะเลทราย ไม่ค่อยมีรถดีเซล และขยันปลูกต้นไม้ จากเมื่อก่อนไม่มีฝน ตอนนี้มีฝนเรื่อยๆ เพราะความชุ่มชื้นจากการที่มีต้นไม้มากขึ้นทุกวัน อยากให้กรุงเทพฯรักษาต้นไม้หรือเพิ่มต้นไม้ แต่วันนี้เราปลูกตึกจนทิ้งต้นไม้หมด