เลื่อนขึ้นค่าโดยสาร 3 เดือน ผู้ประกอบการโวย! คาใจปมใกล้เลือกตั้ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เลื่อนขึ้นค่าโดยสาร 3 เดือน ผู้ประกอบการโวย! คาใจปมใกล้เลือกตั้ง

Date Time: 19 ม.ค. 2562 06:45 น.

Summary

  • คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางรับลูก คนร. สั่งเลื่อนขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะทุกประเภทออกไปอีก 3 เดือน จาก 21 ม.ค. เป็น 22 เม.ย.62 ระบุต้องดึงคนมาใช้รถสาธารณะแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นก่อน...

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางรับลูก คนร. สั่งเลื่อนขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะทุกประเภทออกไปอีก 3 เดือน จาก 21 ม.ค. เป็น 22 เม.ย.62 ระบุต้องดึงคนมาใช้รถสาธารณะแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นก่อน ด้านผู้ประกอบการมึนตึ๊บ! พิมพ์ตั๋วใหม่รับขึ้นราคาหมดแล้ว คาใจเลื่อนขึ้นราคาเพราะเรื่องฝุ่น หรือเพราะจะเลือกตั้งกันแน่

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง มีมติให้ชะลอปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ได้แก่ รถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), รถโดยสารประจำทางที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (รถเมล์เอ็นจีวี) ของ ขสมก., รถร่วมบริการ ขสมก. ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล, รถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถโดยสารร่วมบริการของ บขส. จากมติเดิมที่จะให้รถโดยสารเหล่านี้ปรับค่าโดยสารขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.2562 ให้เลื่อนออกไปอีก 3 เดือน เป็นปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.2562 เป็นต้นไป

“สาเหตุที่ต้องเลื่อนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถประจำทางนั้น เนื่องจากปัจจุบันกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดต่างๆ กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการใช้รถใช้ถนน ดังนั้นจึงให้เลื่อนการปรับขึ้นราคาไปก่อนเพื่อให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะ และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อลดฝุ่นละอองลง ซึ่งหากปรับค่าโดยสารขึ้นอาจทำให้ประชาชนหันไปใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น จะยิ่งสร้างฝุ่นละออง รวมถึงสร้างปัญหาจราจรมากขึ้นด้วย”

อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกอบการ ที่ประชุมฯได้เตรียมเสนอให้กระทรวงคมนาคม ขอให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขยายกรอบเวลาการสนับสนุนค่าเชื้อเพลิงให้กับผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัด (ซีเอ็นจี) เป็นเชื้อเพลิง ในอัตรา 6.02 บาทต่อกิโลกรัม ต่อไปอีกจากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.2562 เป็นจนถึงวันที่ 21 เม.ย.2562

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมระงับการขึ้นค่าโดยสารรถประจำทางออกไปก่อน

ด้านนางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (สมาคมรถร่วมฯ) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการรู้สึกงง กับมติของคณะกรรมการกลางขนส่งทางบกกลางเป็นอย่างมาก ที่มาเปลี่ยนแปลงมติ 3 วันก่อนที่จะมีผลให้ปรับราคา สร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการมาก เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการได้ลงทุนพิมพ์ตั๋วโดยสารราคาใหม่ไปหมดแล้วซึ่งก็ต้องทิ้งไป รวมทั้งยังประสานไปยังกลุ่มสมาชิกให้ปรับขึ้นค่าโดยสารไปแล้ว ซึ่งการสั่งเบรกขึ้นค่าโดยสารกะทันหันครั้งนี้ไม่แน่ใจว่าสมาชิกรถร่วมต่างๆจะรับรู้ทันหรือไม่ หากบางรายจะเก็บราคาใหม่ก็คงควบคุมไม่ได้ เพราะมีสมาชิกมากกว่า 2,000 คัน

“อยากรู้ว่าที่ไม่ให้ผู้ประกอบการขึ้นค่าโดยสารเป็นเหตุผลเรื่องฝุ่น หรือเรื่องที่กำลังจะมีการเลือกตั้งซึ่งมีผลกับคะแนนเสียงกันแน่ ปัจจุบันมีต้นทุนวิ่งรถ วันละ 5,000 บาท แต่มีรายรับวันละ 4,000 บาท ขาดทุนวันละ 1,000 บาท คาดว่าจะมีรถร่วมที่หยุดวิ่งให้บริการแน่นอน เพราะแบกภาระขาดทุนไม่ไหว คงต้องตัวใครตัวมัน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราค่าโดยสารรถประจำทางที่จะให้ปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.2562 เป็นต้นไป ประกอบด้วย รถเมล์ ขสมก. และรถร่วมบริการฯ ปรับขึ้นในอัตรา 1 บาท โดยรถเมล์ร้อนจากเดิม 9 บาท เป็น 10 บาท และรถเมล์ ขสมก. จากเดิม 6.50 บาท เป็นไม่เกิน 10 บาท ส่วนรถปรับอากาศเพิ่มระยะละ 1 บาท จากเดิม 11-23 บาทต่อเที่ยว เป็น 12-24 บาทต่อเที่ยว ส่วนรถ บขส. และรถร่วม บขส. ให้ปรับราคาขึ้นไม่เกิน 10% แบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ระยะทาง 40 กิโลเมตร (กม.) แรก เดิม 0.49 บาทต่อ กม. ปรับเป็น 0.53 บาทต่อ กม., 40-100 กม. เดิม 0.44 บาทต่อ กม. ปรับเป็น 0.48 บาทต่อ กม., 100-200 กม. เดิม 0.40 บาทต่อ กม. ปรับเป็น 0.44 บาทต่อ กม. และเกิน 200 กม. เดิม 0.36 บาทต่อ กม. ปรับเป็น 0.39 บาทต่อ กม.

สำหรับรถเมล์ปรับอากาศใหม่ เช่น รถเมล์เอ็นจีวี จากเดิมเก็บในอัตรา 11-23 บาทต่อเที่ยว เป็น 4 กม.แรก 15 บาท, 5-16 กม. 20 บาท และ 16 กม.ขึ้นไป 25 บาท ส่วนรถเมล์ร้อนที่เป็นรถใหม่ สามารถเก็บอัตราค่าโดยสารได้ในราคา 12 บาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ