ปัญหาค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชนแพงเกินจริง น่าจะได้รับการแก้ไขไม่มากก็น้อย เมื่อกระทรวงพาณิชย์หารือ รพ.เอกชน ต้องเผยแพร่ราคายาที่จำเป็นและค่ารักษาพยาบาลผ่านเว็บไซต์ รพ.แต่ละแห่ง เพื่อให้ประชาชนเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษา
ล่าสุดเตรียมเพิ่มยา-เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้ามาอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม หวังว่าจะเป็นข่าวดีของคนไทย ซึ่งทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์จะติดตามอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านั้น ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน รพ.รามาธิบดี เคยเผยแพร่งานวิจัย ประเด็นค่ารักษา รพ.เอกชน ในชื่อว่า “ค่าบริการ รพ.เอกชนแพงแค่ไหน” จากการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ พบว่า รพ.เอกชนจำนวนไม่น้อยเรียกเก็บค่าบริการแพงจริง เมื่อเปรียบเทียบรายการยากับ รพ.ศูนย์ สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีราคาต่างกันตั้งแต่ 60-400 เท่า
ยกตัวอย่าง วิตามินบีคอมเพล็กฉีดหลอดละ 1.50 บาท กลายเป็น 600 บาท ใน รพ.เอกชน หรือยาฉีดแก้ปวด ขนาด 50 มก. ราคา 6.50 บาท ทาง รพ.เอกชน คิดราคาแพงถึง 450 บาท ไม่รวมถึงรายการเวชภัณฑ์ไม่ใช่ยา มีราคาต่างกันตั้งแต่ 16-44 เท่า เช่น ราคาท่อดูดเสมหะชิ้นละ 10 บาท กลายเป็น 440 บาท ใน รพ.เอกชน หรือไหมเย็บแผลสีดำ ชุดละ 28.5 บาท เป็น 460 บาทใน รพ.เอกชน
นอกจากนี้ รพ.เอกชน ยังมีการตรวจวินิจฉัยเกินความจำเป็น มีการให้เลือดในคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด หรือกรณีคนไข้มีอาการนิ่วเฉียบพลัน แต่ส่งตรวจการทำหน้าที่ของต่อมไทรอยด์ และตรวจองค์ประกอบดีเอ็นเอ คนไข้เป็นปอดบวมจำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วน แต่ส่งตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งไม่ช่วยการดูแลในภาวะด่วน คนไข้เป็นถุงลมพองกำเริบฉุกเฉิน กลับปรากฏรายการเรียกเก็บค่าสายสวนปัสสาวะ และชุดสวนล้าง ซึ่งไม่ชัดเจนว่าใช้ล้างอวัยวะลักษณะเป็นโพรง เช่น จมูก กระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือแผล...ไม่เท่านั้นมีการกำหนดเพดานราคาแบบเดียวกับประกันชีวิต ซึ่งเป็นราคาสูงสุดที่สถานพยาบาลเอกชนเรียกเก็บ โดยอิงราคาที่เรียกเก็บจากคนไข้ผู้ซื้อประกันชีวิต
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 59-61 มีการร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชน กว่า 300 เรื่องในแต่ละปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการให้บริการไม่ได้มาตรฐาน การโฆษณาเกินจริง ตามมาด้วยค่ารักษาแพง ซึ่งการร้องเรียนค่ารักษาแพง ได้ลดน้อยลงเหลือเพียง 2.2% เนื่องจาก พ.ร.บ.สถานพยาบาล ได้กำหนดให้ รพ.เอกชน แสดงอัตราค่าบริการเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ และล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค.ปี 61 ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเรื่องค่ายาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ โดยให้ รพ.เอกชนคิดบริการแบบเหมาจ่ายหรือออกเป็นแพ็กเกจ ไม่ให้คิดอัตราเป็นรายรายการ ซึ่งราคาจะแพงจนบานปลาย
ทั้งนี้ยอมรับ รพ.เอกชน มีค่าบริหารจัดการ ทำให้ราคายาแพงกว่าท้องตลาด ซึ่งผู้เกี่ยวข้องอยากให้มีความโปร่งใสเรื่องต้นทุน ค่าจัดการต่างๆ ซึ่งทาง รพ.เอกชน ต้องแจงเรื่องราคายาให้ชัดเจน โดยสื่อสารกับคนไข้ให้เข้าใจ ไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่ผ่านมา เพราะหากยาอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม หากไม่มีการชี้แจงจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนตัวมองว่าการแก้ปัญหา รพ.เอกชนคิดราคาแพง สามารถทำได้ เนื่องจากคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ในการรักษาทั้งประกันสังคม บัตร 30 บาท หรือข้าราชการมีสวัสดิการในการรักษา ส่วน รพ.เอกชนถือเป็น รพ.ทางเลือก ซึ่งสามารถรักษาในกรณีฉุกเฉินได้ ดังนั้นราคา รพ.เอกชนจะแพงหรือไม่ ต้องดูที่ต้นทุน พิจารณาจากคุณภาพบริการว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ แต่ต้องชี้แจงได้ในการคิดค่ารักษา ซึ่งจะมีอีกกลุ่มพอใจจะใช้บริการ
“หมอ รพ.เอกชน ต้องบอกกับคนไข้ เพื่อพิจารณาตัดสินใจ ไม่ให้กลายเป็นปัญหาเรื่องค่ารักษาแพง แต่ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางการแพทย์ หรือกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมา หากไม่ได้แจงกับคนไข้ จะทำให้เกิดค่ารักษาพยาบาลเกินความคาดหมาย เพราะการรักษาบางอย่าง ไม่ได้อยู่ในสิทธิ์ประกันสังคม และบัตร 30 บาท จึงต้องคุยให้เข้าใจ ไม่ให้เกิดปัญหาสื่อสาร”
ขณะที่ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว อนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวอย่างดีใจ เมื่อกระทรวงพาณิชย์เดินหน้าเพิ่มค่ายา-เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ อยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 22 ม.ค.นี้ ภายหลังเคลื่อนไหวร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเสนอกระทรวงพาณิชย์มาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับร้องเรียนเป็นจำนวนมากเรื่องค่าบริการ รพ.เอกชน แพงมาก และมีบางรายไม่มีเงินจ่าย จนสุดท้ายเซ็นรับสภาพหนี้ถูกฟ้อง ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดพบว่าคิดค่าบริการแพงจริง โดยเฉพาะค่าวิชาชีพทางการแพทย์ 1.7 แสนบาท จากการผ่าตัดหมอนรองกระดูก แพงกว่า รพ.ของรัฐ 400-600 เท่า
“ค่ารักษาที่แพงมากของ รพ.เอกชน ทำให้บริษัทประกันชีวิต บ่นออกมา อีกทั้งปัจจุบัน รพ.เอกชนหลายๆ แห่ง แทบจะมีเจ้าของคนเดียวกัน ทำให้คนเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเคลื่อนไหวหาทางออก เพราะประชาชนไม่ควรเจอภาวะล้มละลายจากการเจ็บป่วย ซึ่ง รพ.เอกชนไม่ควรคิดกำไรมากมาย จะอ้างว่าให้บริการระดับพรีเมียมคงไม่ได้ ควรคิดกำไรไม่เกิน 20% ก็น่าจะทำได้ รวมทั้งต้องประกาศราคาให้ประชาชนได้ทราบ ไม่ใช่ไม่มีเงินก็ไม่ต้องไป ดังนั้น รพ.เอกชนต้องรับผิดชอบต่อสังคม เหมือนต่างประเทศ เพราะเป็นสินค้าเกี่ยวกับความเป็นความตาย ต้องมีคุณธรรม สมเหตุสมผล”
นอกจากนี้เห็นว่ารัฐบาลควรเข้ามาแทรกแซงดูแลค่ารักษา รพ.เอกชน เนื่องจากที่ผ่านมามีการปล่อยปละละเลยธุรกิจทางการแพทย์ให้เปิดอย่างเสรี มีการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหมายถึงต้องทำกำไร โดย รพ.เอกชน ที่มีเจ้าของเป็นคนคนเดียว ถูกอัพเกรดให้เป็นพรีเมียม ทำให้ตัวเลขการร้องเรียนเรื่องค่ารักษาแพงมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนกรณีรักษาฉุกเฉินแต่หากต่ำกว่าสีแดง จะมีค่ารักษาส่วนต่างให้เรียกเก็บ ถือเป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย หรือแม้มีเงิน หากต้องรักษาอย่างต่อเนื่องก็หมดตัวได้ ยกตัวอย่างนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ต้องย้ายไปรักษา รพ.ของรัฐ จนเสียชีวิต เรียกได้ว่ามันโหดร้ายมากๆ.