โอกาสและความหวัง

27 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 99 ของคุณกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ซึ่งมียอดจำหน่ายมากที่สุดของประเทศ และมูลนิธิไทยรัฐ

“วันกำพล วัชรพล” ประจำปี 2561

มูลนิธิไทยรัฐได้จัดงานเพื่อมอบรางวัลครูดีเด่น ผู้บริหารโรงเรียนดีเด่น และโรงเรียนไทยรัฐวิทยาดีเด่นก่อนหน้านี้โรงเรียนไทยรัฐวิทยามีจำนวนทั้งสิ้น 101 โรง แต่ในโอกาสที่ “ผอ.กำพล” ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

มูลนิธิไทยรัฐซึ่งปัจจุบันคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล เป็นประธาน ได้มีดำริที่จะสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพิ่มเติมอีก 10 แห่ง ทำให้มีโรงเรียนไทยรัฐวิทยารวมแล้ว 111 แห่งทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ถือว่าเป็นการขยายโรงเรียนเพิ่มเติมเพื่อให้โอกาสแก่ “เด็กไทย” ได้บ่มเพาะการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น

“ผมเรียนมาน้อยจึงอยากให้เด็กๆได้มีโอกาสในด้านการศึกษา”

นี่คือแนวคิดและปณิธานที่ ผอ.กำพลมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เพราะประเทศไหนก็ตามการศึกษาจะเป็นตัวชี้วัดความเจริญของประเทศนั้นๆ

ในการนี้ได้เชิญคุณการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้มอบรางวัล และ ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จะแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปฏิรูปการศึกษาของไทยให้ดีขึ้นอย่างไร”

คณะกรรมการชุดนี้แยกส่วนกับคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล โดยทางกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเอง ที่ห้องประชุมชั้น 9 อาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ผมว่าน่าสนใจและจะได้รู้ว่าจะมีทิศทางอย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนล้วนมีนโยบายเพื่อจัดการศึกษาของประเทศ แต่เอาเข้าจริงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแม้แต่น้อย

ประเด็นสำคัญก็คือไม่ได้มุ่งไปที่ “แก่นแท้” ของปัญหาจนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาทับซ้อน เพราะล้วนแต่มุ่งไปที่ปลายเหตุมากกว่าต้นเหตุ

ล่าสุดมีนโยบายด้านการศึกษาของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่ประกาศว่า หากพรรคเขาได้เป็นรัฐบาลที่จะทำก่อนก็คือ

แจกเงินเด็กคนละ 1,000 บาท เกิดมาจะให้ 100,000 บาท

เอากันขนาดนั้นเลยโดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าจ่ายเงินแบบนี้แล้วผลจะเป็นอย่างไร จะทำให้การศึกษาดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน จะเอางบประมาณจำนวนมากนี้มาจากไหน

ทำไปทำมาก็เป็นแค่การ “หาเสียง” ด้วยการเอาตัวเลขเม็ดเงินมาบลัฟกันเท่านั้น

เป็นคำตอบที่ว่าการศึกษาไทยจึงล้มเหลวมาโดยตลอด ไม่ได้เข้าถึงปัญหาที่ควรจะต้องคิดและหาแนวทางเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จแต่อย่างใด

หลายประเทศเอาเฉพาะภูมิภาคเอเชียหลายประเทศได้มีการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน หรือแม้แต่กัมพูชาซึ่งกำลังจะประสบความสำเร็จ

รัสเซียอีกประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้วยความมุ่งมั่น ไม่ใช่เพื่อการเมืองแต่เป็นการให้คุณค่าอย่างมีนัยสำคัญ

เป็นการศึกษาฟรีทุกระดับและสร้างต้นแบบด้วยการให้เด็กสามารถเลือกเรียนวิชาตามทักษะของแต่ละคน จึงสามารถสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง

ก็อย่างที่บอกนั่นแหละ การศึกษาจะเป็นตัวชี้วัดความเจริญของแต่ละประเทศอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ต่างกับประเทศที่ไม่ได้พัฒนาด้านการศึกษา

แล้วประเทศไทยจะจมปลักกันต่อไปอย่างนี้หรือ?

“สายล่อฟ้า”