“กนง.” อั้นไม่ไหว ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ครั้งแรกในรอบ 7 ปี 4 เดือน อ้างเศรษฐกิจไทยเติบโตเกิน 4% ต่อเนื่อง 3 ปี แข็งแกร่งพอที่จะรองรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ แม้จะปรับลดอัตราเติบโตเศรษฐกิจไทยปีหน้าจาก 4.2% เหลือ 4% “ปรีดี ดาวฉาย” ยันไม่มีธนาคารรายใดขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
นายทิตนันท์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ครั้งสุดท้ายของปีนี้ โดยคณะกรรมการ กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากอัตรา 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยงครั้งแรก หลังจากการคงอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 28 ครั้งต่อเนื่อง หรือในรอบ 7 ปี 4 เดือน
ทั้งนี้ กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าที่ผ่านมามาก โดยจากช่วงปี 2551-2559 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ย 3% อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% แต่ตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโต 4% ปี 2561 นี้ แม้จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงแล้ว ยังคาดว่าจะโต 4.2% และปีหน้า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 4% โดยได้ปรับลดประมาณการจากเดิม 4.2% ซึ่งเท่ากับเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอัตรา 4% ติดกัน 3 ปี ถือเป็นการเติบโตที่แข็งแกร่ง และเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยมากนัก
“กรรมการส่วนใหญ่ เห็นว่า ความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับที่ผ่านมาลดน้อยลง และเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งเพื่อสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต และอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% ยังเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กรรมการเสียงข้างน้อย 2 คนเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากต่างประเทศปรับสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จึงควรรอประเมินความชัดเจนของผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและความยั่งยืนของแรงส่งจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศไปอีกระยะหนึ่ง”
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง. 0.25% ยังไม่มีธนาคารพาณิชย์แห่งใดปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ในเร็วๆนี้
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯไม่ให้ห่างมากเกินไป แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของไทย หากเศรษฐกิจขยายตัวดีความต้องการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น ธนาคารพาณิชย์ต้องระดมเงินฝากมาปล่อยสินเชื่อ ซึ่งในช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ต้องปรับเพิ่มขึ้น
นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว และเชื่อว่าจะไม่ส่งให้ธนาคารพาณิชย์รวมทั้งธนาคารกรุงศรีอยุธยาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เนื่องจากสภาพคล่องในระบบมีมาก ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นมาต่อเนื่อง เห็นได้จากมีการจัดแคมเปญออกมาเป็นระยะๆ
นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ได้สร้างแรงกดดันให้กับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เนื่องจากสภาพคล่องในระบบอยู่ในระดับสูง ส่วนของธนาคารกรุงไทยยังไม่มีนโยบายที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้แน่นอน แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นอีก เพราะธนาคารไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งทำกำไรระยะสั้น นอกจากนี้ การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นอาจส่งผลกระทบด้านลบกับลูกค้า และสวนทางกับความตั้งใจของธนาคารที่อยากเห็นธุรกิจของลูกค้าฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งก่อน
ด้าน บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ไม่น่าจะส่งผลต่อภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 อย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางระดับสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่อยู่ในระดับสูง
นายจิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย กล่าวว่า ค่อนข้างเซอร์ไพรส์มาก และสวนกระแสสังคมที่ต้องการให้คงอัตราดอกเบี้ย เพื่อประคองเศรษฐกิจไทย ซึ่งการปรับขึ้นครั้งนี้ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้นและซ้ำเติมสถานการณ์หนี้ครัวเรือน เพราะการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ทำให้เงินทุนไหลเข้าไทยและค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะยิ่งกระทบต่อการส่งออกไทย ทำให้ศักยภาพการส่งออกของไทยลดลงและยังทำให้นักท่องเที่ยวต้องควักเงินเพิ่ม ขณะที่หนี้ครัวเรือนเมื่อปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจทำให้หนี้เพิ่มขึ้น 30,000-40,000 บาทต่อครัวเรือน
นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด กล่าวว่า จะส่งผลกระทบเรื่องของการผ่อนชำระค่าผ่อนบ้าน โดยอาจส่งค่างวดเพิ่มจากเช่น งวดละ 10,000 บาทต่อเดือน จ่ายเพิ่มเป็น 11,000-12,000 บาทต่อเดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวันที่ 19 ธ.ค.2561 ปรากฏว่า ดัชนีดีดตัวขึ้นแรงในช่วงบ่าย หลังจากนักลงทุนรับทราบมติ กนง.ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้มีแรงซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์กลับเข้ามาอย่างคึกคัก โดยเฉพาะหุ้นแบงก์ใหญ่ ทั้ง KBANK, BBL, KTB และ SCB หนุนบรรยากาศลงทุนโดยรวม แม้ยังคงมีแรงเทขายหุ้นกลุ่มพลังงานกดดันตลาดจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลง ส่งผลให้ดัชนีมาปิดตลาดที่ 1,601.12 จุด เพิ่มขึ้น 17.93 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 45,167.91 ล้านบาท ด้าน น.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า มีแรงซื้อกลับหุ้นกลุ่มแบงก์ หลัง กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าจะปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจปีหน้า อยู่ที่ 4% จากเดิม 4.2% เนื่องจากหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงรุนแรง จึงมีแรงซื้อกลับเข้ามา.