หลายคนอาจสงสัย หากสุดท้ายแล้วไม่มีพรรคการเมืองใดเสนอชื่อ "บิ๊กตู่" เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วพล.อ.ประยุทธ์ ยังจะสามารถมีช่องทางไหน เพื่อเข้าสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีรอบ 2 ได้อีก   

แต่งตัวรอคนทาบใส่ชื่อชิงนายกฯ

จากกรณี เมื่อวานที่ผ่านมา (26 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ถึงท่าทีตัดสินใจทางการเมืองของตัวเอง ว่า "ได้ถามฝ่ายกฎหมายและนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แล้ว ยืนยันว่าตนไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิกพรรคการเมืองอะไรทั้งนั้น และยังไม่มีพรรคใดมาทาบทาม ขอให้กฎหมายออกมาก่อนจะชัดเจนเองว่าตนจะอยู่ตรงไหน ถ้าใครทาบทามมาตนก็จะตัดสินใจ แต่ถ้าไม่มีใครทาบทามก็ไม่เอา เขามีกำหนดเมื่อไหร่ ให้ทาบทามเมื่อไหร่ ให้เสนอชื่อนายกฯ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น แล้วจะรับหรือเปล่ายังไม่รู้เหมือนกัน" 

วันนี้ ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ได้ลองค้นหาและตรวจสอบเส้นทางการเข้าสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีภายใต้ รธน.ฉบับ 2560 นี้ ต้องบอกก่อนว่าในที่นี้ไม่ได้หมายถึง "บิ๊กตู่" คนเดียว แต่หมายถึงผู้ที่อาจได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองทุกคน ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มาจากพรรคการเมืองตัวเองด้วย ซึ่งพอมองแนวทางความเป็นไปได้ เข้าไปแล้วพบว่า มีทั้งสิ้น 3 แนวทาง

...

แต่ถึงยังไง? พระเอกตามท้องเรื่องในตอนนี้ ก็ขอสมมติว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แล้วกัน ส่วนเส้นทางจะขรุขระทุรกันดาร หรือโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ หรือมีขวากหนามขวางกั้นอยู่ข้างหน้า เราไปดูกันได้เลยค่ะ   

เส้นทางแรก

พรรคการเมืองเสนอ 3 ชื่อ 

พล.อ.ประยุทธ์ ไปลงเป็น 1 ใน 3 ของ “บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี” ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ที่จะเสนอให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำลังจะมาถึง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป. ส.ส.) หาก พล.อ.ประยุทธ์ เลือกใช้เส้นทางนี้ พรรคที่คาดว่าจะมาเชิญบิ๊กตู่นั่งเก้าอี้นายกฯ รอบ 2 ก็น่าจะเป็นพรรค "พลังประชารัฐ" มีความเป็นไปได้สูงสุด! ส.ส. 500 คน ต้องได้เสียง 251 คนขึ้นไป (ทางนี้หากเลือกได้ ส.ว.ก็ไม่เกี่ยว)

เส้นทางที่สอง

"นายกฯ คนนอก ในบทเฉพาะกาลของ รธน."

กรณีไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ให้ใช้ ม.272 เสนอชื่อนายกฯ คนนอก โดยใช้ เสียง ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง 250 คน เข้าชื่อเสนอสภา ส.ส.และ ส.ว.ลงคะแนนเสียง 2 ใน 3 จาก 750 คน โดย ส.ส.เข้าชื่อ 1 ใน 10 หรือจำนวน 50 คน เสนอชื่อบุคคลใดก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และต้องได้เสียงกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ร่วมกับ ส.ว.จาก 750 คน โหวตชื่อนายกฯ ร่วมกัน เสียงเกินกึ่งหนึ่ง (ครึ่งหนึ่ง) ก็คือ 375 คน ***นาทีนี้หวยน่าจะออกที่แนวทางนี้*** 

ทั้งนี้ มาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2560 ระบุว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 วรรค 3 ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88

ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้


เส้นทางที่สาม

"เลือกตั้งแล้ว กกต.มีเหตุประกาศคะแนนบางเขตไม่ทัน"

หากมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปี 2562 แต่สุดท้ายไม่สามารถเปิดการประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้” ทั้งนี้ มาตรา 127 ของ พ.ร.ป. ส.ส. ระบุว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้ เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด คณะกรรมการต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง กกต.จะต้องรับรอง ส.ส.จำนวนร้อยละ 95 หรือ 475 เสียง จึงจะเปิดการประชุมได้

แต่หากมีปัญหา เช่น ผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้ง ส.ส.ของเขตนั้น มีคะแนนน้อยกว่าเสียงโหวตโน หรือไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกใคร จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ หากเกิดกรณีเช่นนี้ หลายเขตเลือกตั้งก็ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ กำหนดเวลาประกาศผลการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้งใหม่  

เส้นทางนี้สรุป คือ ถ้าต้องมีการเลือกตั้งใหม่หลายเขต การรับรองผล ส.ส.ก็อาจจะยืดออกไป...

ยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจเป็นตัวแปรได้ ถึงแม้รธน.ฉบับนี้ จะถูกออกแบบมาพิเศษ ตรงไม่น่าจะมีพรรคการเมืองใด รวบรวมเสียงข้างมากได้เบ็ดเสร็จ ทำให้มีโอกาสได้รัฐบาลผสมได้มากว่าพรรคเดียว ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ก็ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้เลยที่พรรคฝ่ายตรงข้าม จะรวมเสียงข้างมากได้ แม้มันจะยากมากก็ตาม   

ตัวแปรนั้น คือพรรคต้องชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ทั้งหมดจึงขึ้นกับประชาชนคนไทยจะเป็นผู้ตัดสิน...