แบงก์ชาติเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจ หลังประชุม กนง.เดือน ธ.ค.นี้ ยันเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวมากกว่า 4% แต่อาจลดลงจากที่คาดไว้ มองค่าเงินบาทผันผวนไปถึงปีหน้า ผู้ประกอบการจะต้องดูแลความเสี่ยงตัวเอง ขณะที่พาณิชย์ ปลื้มภาวะส่งออกเดือน ต.ค.กลับมาเป็นบวกอีกครั้งที่ 8.7% ด้วยมูลค่า 2.1 หมื่นล้านเหรียญ หลังเดือน ก.ย.ติดลบ 5.2%
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไปในวันที่ 19 ธ.ค.จะเป็นช่วงที่ ธปท.มีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจครั้งสุดท้ายในปีนี้ โดยอาจจะมีการปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจากที่ประมาณการไว้ที่ 4.4% ในครั้งก่อน เนื่องจากมีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป แต่น่าจะเป็นการปรับลดลงไม่มาก และเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวสูงกว่า 4% อย่างแน่นอน
“ตัวเลขเศรษฐกิจจริงของไทยในไตรมาสที่ 3 ที่ลดลงกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกที่ยังขยายตัว ถือเป็นแนวโน้มที่ดีอยู่ ซึ่งคงต้องติดตามต่อไปว่า การส่งออกไทยในช่วงต่อไปจะดีต่อเนื่องไปหรือไม่ และยังต้องดูปัจจัยอื่นๆประกอบ เช่นการบริโภคในประเทศ และการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว หลังจากการแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวจีนมีคงความชัดเจนมากขึ้นโดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสที่ 4”
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ต้องติดตามต่อไป คือ มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าและนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของประเทศในยุโรป ขณะที่ค่าเงินบาทจะยังมีความผันผวนในปีหน้าต่อเนื่อง แต่ขณะนี้ไม่เห็นเงินระยะสั้นเข้ามาเก็งกำไร ซึ่งผู้ประกอบการยังคงต้องคำนึงถึงการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง โดยการประชุม กนง.ครั้งที่ผ่านมา มองว่า ควรเตรียมนโยบายการเงินให้มีกระสุนเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจ และตลาดการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทางด้าน น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงการค้าระหว่างประเทศของไทยว่าในเดือน ต.ค.61 การส่งออกมีมูลค่า 21,757.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากที่เดือน ก.ย.61 ที่ติดลบ 5.2% โดยเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 702,056.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.81% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 22,037.5 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 11.23% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 720,677.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.39% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 279.5 ล้านเหรียญ หรือขาดดุล 18,621 ล้านบาท
ขณะที่ในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 61 การส่งออกมีมูลค่า 211,487.8 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 8.19% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 6.759 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.51% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 208,928.9 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 14.78% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 6.769 ล้านล้านบาท ส่งผลให้เกินดุลการค้า 2,558.9 ล้านเหรียญ แต่เมื่อคิดเป็นเงินบาท ขาดดุล 9,430.5 ล้านบาท
สำหรับสาเหตุที่การส่งออกกลับมาฟื้นตัว เพราะในเดือน ต.ค.61 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่มขึ้น 12.2% อยู่ที่ 3,574 ล้านเหรียญ โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น น้ำตาล ข้าว มันสำปะหลัง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ผัก ผลไม้สดแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 6.8% มูลค่า 17,060 ล้านเหรียญ จากการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ.