คลังยอมรับศึกษาภาษีเค็ม-มัน ยัน! รัฐไม่ได้ถังแตกแค่ห่วงสุขภาพคนไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลังยอมรับศึกษาภาษีเค็ม-มัน ยัน! รัฐไม่ได้ถังแตกแค่ห่วงสุขภาพคนไทย

Date Time: 9 พ.ย. 2561 08:45 น.

Summary

  • สรรพสามิตแจงสี่เบี้ยเก็บภาษีความเค็ม-ความมัน (ไขมันทรานส์) ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษา ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้ ย้ำชัดที่ทำเพราะรัฐบาลห่วงสุขภาพคนไทย ไม่ใช่เพราะรัฐบาลถังแตก...

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

สรรพสามิตแจงสี่เบี้ยเก็บภาษีความเค็ม-ความมัน (ไขมันทรานส์) ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษา ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้ ย้ำชัดที่ทำเพราะรัฐบาลห่วงสุขภาพคนไทย ไม่ใช่เพราะรัฐบาลถังแตก หวังรีดภาษีเพิ่ม ส่วนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมหารือกับสาธารณสุข-พาณิชย์ เนื่องจากยังถือเป็นสินค้าห้ามนำเข้า จึงไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ แต่กรมพร้อมมาก

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า เรื่องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในสินค้าที่ใช้ไขมันทรานส์และสินค้าที่มีความเค็มนั้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้ โดยความจำเป็นที่ต้องมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เพราะต้องดูแลสุขภาพของคนในประเทศ และให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ช่วยส่งเสริมนวัตกรรมกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S Curve) มุ่งเน้นเรื่องสุขภาพอนามัย ซึ่งในระยะยาวจะเป็นการช่วยลดภาระงบประมาณค่ารักษาพยาบาลด้วย

“ขอยืนยันว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ไม่ใช่เป็นเพราะรัฐบาลถังแตก จนต้องหารายได้เพิ่ม เรื่องการจัดเก็บภาษีสินค้าที่มีความเค็มและใช้ไขมันที่ไม่ดี เป็นเรื่องนโยบายที่รัฐจะช่วยดูแลสุขภาพของคนในชาติ เพราะการกินเค็มมากไปจะเป็นโรคไต ส่วนไขมันทรานส์ แม้มีการห้ามนำเข้า แต่ระหว่างกระบวนการผลิตต่างๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งต้องไม่ให้มีอยู่ในอาหาร วันนี้กรมสรรพสามิตต้องการเปลี่ยนบทบาทที่ถูกมองว่าเป็นกรมที่จัดเก็บภาษีบาป มาเป็นกรมจัดเก็บภาษีที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย”

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีของเค็มและไขมันทรานส์จะไม่กระทบกับผู้บริโภค เพราะเป็นการเก็บภาษีต้นทางจากผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีสินค้าที่มีความหวาน โดยในกรณีนี้ จะจัดเก็บกับสินค้าที่มีการบรรจุหีบห่อและระบุปริมาณโซเดียมที่ชัดเจน เช่น ซอสปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวต่างๆ แต่ไม่รวมอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เพราะจะไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ

ส่วนเรื่องการจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า กรมสรรพสามิตขอยืนยันว่า กรมพร้อมมาก เพราะมีอัตราภาษีอยู่ในพิกัดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ แต่การตัดสินใจว่าจะจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ ที่น่าจะมีข้อมูลชัดเจนถึงความจำเป็นของการจัดเก็บภาษีมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กรมได้จับกุมบุหรี่ไฟฟ้าที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์และมีการฟ้องร้องแล้วกว่า 80 คดี คิดเป็นค่าปรับประมาณ 5 ล้านบาท

“ตอนนี้กระทรวงพาณิชย์รับทราบปัญหาแล้ว และมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อมาพิจารณาในเรื่องนี้ ซึ่งคงต้องดูว่าคณะทำงานจะพิจารณาอย่างไร แต่ในชั้นนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังถือเป็นสินค้าที่ห้ามนำเข้า จึงไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ กรมเป็นส่วนของปลายน้ำ ถ้าทางต้นน้ำเห็นว่าสามารถนำเข้าได้ เราค่อยเก็บภาษี เพราะมีพิกัดภาษีรองรับไว้แล้ว”

สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษี โดยหลักการแล้ว ภาษีบุหรี่ ได้เก็บอัตราสูงสุดที่เก็บอยู่ในปัจจุบันแล้ว ที่มวนละ 1.20 บาท และตามมูลค่า 40% ส่วนตัวเครื่องสูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 30% ซึ่งการแบ่งภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.บุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้ยาสูบคล้ายบุหรี่ซิกาแร็ต เติมน้ำยาไม่ได้ สูบได้จำกัดครั้งแล้วต้องทิ้ง 2.บุหรี่ไฟฟ้าแบบเติมน้ำ มีตัวน้ำยาและเครื่องไฟฟ้าที่ใช้สูบ และ 3.บุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้ยาสูบคล้ายบุหรี่ซิกาแร็ต ใช้นวัตกรรมให้ความร้อน ซึ่งมีตัวมวนยาสูบ และเครื่องสูบบุหรี่ไฟฟ้า

โดยการเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าประเภทที่ 1 และ 3 ทำได้ง่ายเพราะมีความชัดเจน แต่สำหรับประเภทที่ 2 ที่เป็นแบบน้ำ อาจจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เข้ามาช่วยดูว่าส่วนประกอบของน้ำผสมด้วยสารอะไรบ้าง เพื่อทำการเก็บภาษีให้ถูกต้อง

นายพชรกล่าวว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างพิจารณาแพ็กเกจภาษีสรรพสามิตทั้งหมด ซึ่งรวมถึงภาษีสินค้าที่มีความเค็มและไขมันทรานส์ ภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ที่จัดเก็บตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาดว่าจะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายในไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2562 หรือในสิ้นปี 2561 นี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ