Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

ติดหรู ชอบสบาย ชีวิตเสี่ยงๆ คนไทย กลายเป็นทุกข์ เงินออมแทบไม่พอใช้

Date Time: 31 ต.ค. 2561 19:05 น.

Summary

31 ต.ค. วันออมแห่งชาติ รู้หรือไม่? คนไทยพวกมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่มีเงินออมไม่พอใช้ จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันที่น่ากลัวมาก

31 ต.ค. วันออมแห่งชาติ รู้หรือไม่? คนไทยพวกมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่มีเงินออมไม่พอใช้ จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันที่น่ากลัวมาก ติดหรู ชอบความสะดวกสบายรวดเร็ว และยังมีไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายเงินหมดไปกับความบันเทิง บริโภคสิ่งไม่จำเป็น ทั้งดื่มสุรา สูบบุหรี่

ตรงข้ามกับพฤติกรรมออมเงินของประชาชนฐานราก กลับพบว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่างๆ และถือเป็นลำดับต้นๆ ในประเทศอาเซียน เช่น ฝากเงินกับธนาคาร ซื้อสลากออมทรัพย์ พันธบัตร และประกันชีวิต รวมถึงเก็บไว้ที่บ้าน และเล่นแชร์

ทั้งนี้จากข้อมูลศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ได้สำรวจพฤติกรรมการออมของประชาชนฐานราก รายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศ จำนวน 2,150 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 32.2 มีเงินออม โดยส่วนใหญ่ออมแบบรายเดือน เฉลี่ย 1,500 บาทต่อเดือน เพื่อใช้ยามฉุกเฉิน เจ็บป่วย การสำรองไว้ใช้ และเป็นทุนประกอบอาชีพ มีเพียง 1 ใน 4 ที่ออมเพื่อใช้ในยามเกษียณ ขณะที่ร้อยละ 52.3 ไม่มีเงินเหลือไว้ออม เนื่องจากมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน และมีภาระหนี้สิน

ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์วิจัยข้อมูลเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารทหารไทย เคยเปิดเผยพฤติกรรมการใช้เงินของคนไทยที่มีอายุ 18-54 ปี จากฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพ 35 ล้านคน พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มากถึง 80% มีเงินออมพอใช้ไม่ถึง 6 เดือน และมีเพียง 20% ที่มีเงินออมพอสำหรับใช้จ่ายตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป โดยปัญหาเงินไม่พอใช้ส่วนมากเกิดขึ้นกับพนักงานเอกชนและจ้างงานอิสระ ทั้งกลุ่มวัยเริ่มต้นทำงาน (Gen Y) และกลุ่มที่มีประสบการณ์ทำงานมานาน (Gen X) ก็ประสบปัญหาเช่นกัน   

และที่น่าตกใจ แม้ผู้ที่มีเงินเดือนสูงกว่า 30,000 บาท ก็ยังมีปัญหาเงินไม่พอใช้ มากถึง 70% ทั้งในกลุ่มคนทำงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือต่างจังหวัด จากพฤติกรรมการใช้ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันที่เน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว ติดหรูมากขึ้น เช่น ทานอาหารนอกบ้าน นิยมเสพสื่อออนไลน์ ใช้จ่ายเงินไปกับความบันเทิง ดื่มสุรา และสูบบุหรี่ เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสูงถึง 1 ใน 4 ของรายได้ต่อเดือน

แสดงให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ใช้เงินเกินกำลัง เห็นได้จากมากกว่า 50% ของคนที่มีบัตรเครดิต ไม่สามารถชำระเต็มจำนวนได้ และอีก 48% ยอมผ่อนสินค้าแบบเสียดอกเบี้ย ทำให้มีพฤติกรรมใช้ก่อนออมทีหลัง และไม่มองอนาคต ขาดการวางแผนการใช้จ่ายหลังเกษียณ จากการขาดวินัยในการออมเงิน มีแค่เพียง 38% ที่มีพฤติกรรมออมก่อนใช้ และแยกบัญชีชัดเจน

ส่วนอีก 49% ใช้ก่อนออมทีหลัง และอีก 13% ยังไม่คิดออม และต่อให้มีการออม ก็มีแค่ 35% เท่านั้นที่มีวินัยในการออมเท่ากันทุกๆ เดือน อีกทั้งยังรู้สึกว่าการวางแผนการใช้จ่ายหลังเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว โดย 21% ยอมรับว่ายังไม่เคยคิดถึงการวางแผนเลย

นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มคนที่มีเงินออมไม่พอกับกลุ่มคนที่มีเงินออมพอ จะกระจุกอยู่ที่เงินฝากธนาคารกว่าร้อยละ 80 และเกินครึ่งเป็นเงินฝากออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉลี่ยสัดส่วนของเงินฝากจะต่ำกว่าร้อยละ 50 ทั้งๆ ที่คนไทยส่วนใหญ่ต้องเผชิญความเสี่ยงสูง ทั้งอุบัติเหตุและการเสียชีวิตจากโรคร้าย ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่าย หากเงินออมไม่พอ หรือไม่มี ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก

ส่วนภาพสะท้อนแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีเงินเก็บน้อยมาก เพราะจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาระบุแม้คนไทยจะมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มากกว่า 83 ล้านบัญชี แต่พบว่า มีถึง 73 ล้านบัญชี หรือ 88% ของบัญชีออมทรัพย์ทั้งหมดที่มีเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท

สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมออมเงินของคนไทย หากไม่เปลี่ยนแปลง ปรับตัว หมายความว่าในอนาคตคงอยู่ยาก ตอนมีเงินใช้สุขสบาย พอแก่อยู่อย่างลำเข็ญ ถามว่า “วันนี้คุณออมเงินหรือยัง”.


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)