ปัจจุบันคนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น วิ่ง ปั่นจักรยาน โยคะ และกีฬาชนิดอื่นๆ ซึ่งในบ้านเราก็มีการจัดรายการวิ่งมาราธอนทุกสัปดาห์ ไม่ต่ำกว่า 20 งานทั่วประเทศ และได้รับการตอบรับจากบรรดานักวิ่งอย่างล้นสนาม สมัครกันเต็มแทบทุกงาน โดยข้อมูลจากเพจ “วิ่งไหนดี” และ “สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย” รวมทั้ง บริษัทออแกไนซ์ที่รับจัดงานวิ่ง ได้ให้ข้อมูลตัวเลข ดังนี้
วิ่งทั้งปี สะพัดพันล้าน ใครได้อะไรบ้าง?
นักวิ่ง : สุขภาพแข็งแรง
ภายในงานวิ่งจะมีการแจกเบอร์วิ่ง (BIB) ของพรีเมียมต่างๆ เช่น เสื้อวิ่ง, เหรียญที่ระลึก, หมวก, ตุ๊กตา, ถ้วยรางวัล และยังมีของกิน เช่น น้ำดื่ม, เกลือแร่, อาหาร, ผลไม้ นอกจากนี้ บางงานอาจจะมีกิจกรรมเสริมเพื่อจูงใจนักวิ่งด้วย เช่น มินิคอนเสิร์ต, เต้น, โยคะ หรืองานเสวนา
กรณีที่ไปวิ่งในต่างจังหวัด นักวิ่งจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ไม่น่าจะเกิน 3,000 บาทต่อคน หากอยู่ท่องเที่ยวต่อหรือเลือกโรงแรมที่ราคาสูงก็จะมีต้นทุนแพงขึ้นมาอีก
...
ผู้จัดงาน : กำไรเฉลี่ย 15-20%
สำหรับเรตค่าสมัครวิ่งที่ถูกที่สุด คือ ฟรี! ส่วนเรตสูงสุดจะอยู่ 1,000 กว่าบาท โดยในปี 59 มีการจัดงานวิ่ง ราว 500 งาน ส่วนปี 60 มีการจัดงานวิ่ง ราว 800 งาน และคาดว่าปี 61 นี้ จะมีมากกว่า 1,000 งาน ซึ่งในแต่ละงานจะมีนักวิ่งตั้งแต่ 1,000-30,000 คน
ต้นทุนการจัดงานวิ่งนั้น จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น วัตถุประสงค์ในการจัดงานเพื่อการกุศล หรืองานครบรอบก่อตั้งบริษัท หน่วยงานต่างๆ, ระยะทางวิ่ง ยิ่งไกลค่าใช้จ่ายยิ่งสูง, สถานที่วิ่ง หากเป็นสวนสาธารณะต้นทุนจะถูกกว่าจัดวิ่งบนท้องถนน เพราะต้องปิดถนน, แผนประชาสัมพันธ์, ค่าเช่าสถานที่, ค่าตกแต่งสถานที่, เครื่องเสียง ไฟฟ้า, ของพรีเมียม, น้ำดื่ม, อาหาร, ทีมงาน, รถพยาบาล, เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฯลฯ
ข้อมูลจากบริษัทออแกไนซ์แห่งหนึ่ง ระบุว่า ระดับมินิมาราธอน 10 km. ต้นทุนในการจัดงานขั้นต่ำ 1 ล้านบาท ระดับฮาล์ฟมาราธอน 21 km. ต้นทุนในการจัดงานขั้นต่ำ 2 ล้านบาท และระดับมาราธอน 42.195 km. ต้นทุนในการจัดงานขั้นต่ำ 3 ล้านบาท
ขณะที่ “นายกตุ้ย” นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ในฐานะนักวิ่งและเจ้าภาพร่วมในการจัดการแข่งขัน Bangsaen 42 และ Bangsaen 21 กล่าวจากประสบการณ์ว่า การจัดงานวิ่งต้นทุนส่วนใหญ่ คือ เบี้ยเลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ ค่าอาหารที่จัดให้นักวิ่ง รวมทั้งค่าเช่าสถานที่
...
“ส่วนตัวคิดว่า หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วจะเหลือกำไรอยู่ที่ประมาณ 15% ไม่เกิน 20% เพราะงานวิ่งมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณนักวิ่ง ถ้าเก็บค่าสมัครจากนักวิ่งได้เยอะ และระยะทางในการวิ่ง เพราะยิ่งวิ่งระยะสั้นยิ่งกำไรเยอะ ใช้เจ้าหน้าที่ไม่มาก และหากวิ่งบนถนนหลวง จะมีค่าใช้จ่ายในการปิดถนน แต่ถ้าจัดในสวนสาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ปิด จะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า
นอกจากนี้ หากเป็นงานการกุศลได้กำไรมากกว่าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสถานที่ และโปรดักชั่นต่างๆ ด้วย” นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข กล่าว
ชุมชน : เศรษฐกิจเติบโต
เมื่อคนยุคใหม่หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น และการวิ่งก็เป็นการออกกำลังกายยอดนิยมเช่นกัน ทำให้เกิดการเติบโตของธุรกิจชุดกีฬา เช่น เสื้อ กางเกง รองเท้า นาฬิกา
...
ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการจัดวิ่งในต่างจังหวัดก็ทำให้เกิด Sport Tourism ขึ้นมา โดยโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดนั้นก็จะคึกคักขึ้น เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของเมืองนั้น และเมืองใกล้เคียงด้วย
“ช่วงที่จัดวิ่งที่บางแสน ประเมินเม็ดเงินสะพัดไม่น่าจะต่ำกว่า 15 ล้านต่อวัน ซึ่งคิดว่าน่าจะได้มากกว่านั้นด้วย เพราะการใช้จ่ายต่างๆ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ไม่รวมค่าเบอร์วิ่ง ตกคนละ 2,000 บาท หากมีนักวิ่งมาร่วมวิ่ง 10,000 คนก็จะได้ 20 ล้านบาท ไม่รวมนักท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ไม่ได้วิ่งด้วย หรือผู้ติดตามนักวิ่ง เพราะฉะนั้น คิดว่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านต่อวัน แต่ชุมชนจะได้จริงๆ น่าจะหัวละ 1,000 บาท อันนี้คำนวนแบบเซฟๆ ไม่ได้ตีเลขโอเว่อร์” นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข อธิบาย
หากลองคิดคำนวนตัวเลขกันเล่นๆ จากจำนวนงานวิ่งปี 60 ที่มีราว 800 งาน
เฉลี่ยนักวิ่งเข้าร่วมงานละ 2,000 คน จะมีนักวิ่งร่วมงาน ทั้งสิ้น 1.6 ล้านคน
เท่าประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ออกมาวิ่งมาราธอนกันเลย
และหากคิดค่าสมัครเฉลี่ยอยู่ที่ 500 บาทต่อคน จะมีค่าสมัครวิ่ง ทั้งสิ้น 800 ล้านบาทต่อปี
เทียบเท่ากับการแอดมิทเข้า ICU โดยใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้ 177,777 วัน
เห็นแบบนี้แล้ว ออกมาวิ่งกันดีกว่า...
...
วิเคราะห์ 4 ปัจจัย คนไทยนิยมวิ่ง
อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สสส. ได้อธิบายถึงปัจจัย 4 ข้อที่ทำให้คนไทยหันมานิยมเข้าร่วมรายการวิ่งมาราธอนกันอย่างท่วมท้น
1. การวิ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ใช้ทักษะไม่ยาก ด้วยความที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นการวิ่งเพื่อออกกำลังกาย ไม่ได้วิ่งถึงขั้นแข่งขันเอาชนะ ก็ไม่ต้องเรียนรู้เทคนิคมากมาย
2. ต้นทุนต่ำ เช่น เสื้อ กางเกง รองเท้า มีราคาถูกไปจนถึงแพง คนที่มีกำลังซื้อน้อยก็สามารถมาวิ่งออกกำลังกายได้ ส่วนอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น นาฬิกา ก็จะเป็นนักวิ่งอีกกลุ่มหนึ่ง
3. การรณรงค์ส่งเสริมของหลายองค์กร อย่าง สสส. กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ ส่งเสริมกิจกรรมวิ่งอย่างมากมาย
4.กระแสรันนิ่งบูม เกิดขึ้นในประเทศไทยหลายช่วง ได้แก่
ยุคแรก ปี 2530 ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เขียนหนังสือเรื่อง “วิ่งสู่ชีวิตใหม่” ทำคลินิกวิ่ง จัดงานวิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติที่มีคนเข้าร่วมวิ่งนับแสนคนบนสะพานพระราม 9 จากนั้น จึงเกิดชมรมวิ่งต่างๆ ขึ้นมามากมาย เพราะ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ได้เดินสายไปตามสวนสาธารณะ จังหวัดใหญ่ๆ เพื่อชักชวนให้ตั้งชมรมวิ่ง
ยุคที่ 2 เกิด สสส.ขึ้นในปี 2545
ยุคที่ 3 ปี 2555 ภาพยนตร์เรื่อง “รัก 7 ปี ดี 7 หน” มีตอน 42.195 คือ ตัวเลขของระยะทางการวิ่งมาราธอน ซึ่งทาง สสส.กับสมาพันธ์วิ่งฯ ได้พูดคุยกับผู้บริหารจีทีเอช ผู้กำกับ โดยให้หนังเรื่องนี้เป็นตัวสื่อสารรณรงค์ทำเป็นแคมเปญ พร้อมจัดงานวิ่ง “Thai Health Day Run” โดยมีศิลปินดาราในเครือแกรมมี่และประชาชนหลายหมื่นคนออกมาร่วมวิ่ง ทำให้เกิดกระแสการวิ่งขึ้นมา
ยุคที่ 4 ในปี 2559 โครงการก้าวคนละก้าวเพื่อโรงพยาบาลบางสะพานของ “ตูน บอดี้สแลม” ที่จัดวิ่งเพื่อการกุศลให้ประชาชนร่วมบริจาคเงิน และรณรงค์ให้หันมาออกกำลังกาย ยิ่งไปกว่านั้น กระแสการวิ่งยิ่งแรงขึ้นเมื่อ ปี 2560 เกิดโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ
อ.ณรงค์ ยังกล่าวต่อว่า ในปี 2545 เมื่อเกิด สสส. มีคนวิ่งประมาณ 5.8 ล้านคน แต่พอถึงช่วงปี 2559 มีคนวิ่งประมาณ 12 ล้านคน จากกระแสรัก 7 ปี ดี 7 หน กระแสตูน บอดี้สแลม วิ่งเพื่อระดมทุนหาเงินจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้ รพ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ พอถึงปี 2561 มีคนวิ่งเพิ่มเป็น 15 ล้านคน เกิดจากอิทธิพลของโครงการก้าวคนละก้าว ในการวิ่งของตูน บอดี้สแลม ที่วิ่งจากเบตงไปจนถึงแม่สาย
กระแสรันนิ่งบูมจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว วัยทำงาน และกระแสผู้หญิงออกมาวิ่งเพิ่มมากขึ้น จนทำให้จำนวนผู้หญิงวิ่งเริ่มใกล้เคียงกับผู้ชายอย่างฉิวเฉียว 40% ปลายๆ ต่อ 50% ต้นๆ เท่านั้น
นอกจากนี้ ในจำนวนคนวิ่ง 15 ล้านคน มีคนออกมาวิ่งในสนามวิ่งที่มีการจัดปีละประมาณ 1,000 งาน จำนวน 1.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของจำนวนคนที่วิ่งออกกำลังกาย
ดังนั้น ในจำนวน 1.5 ล้านคนนี่แหละที่เดินทางไปวิ่งตามที่ต่างๆ ทำให้งานวิ่งแต่ละงานคนเต็ม คนล้น จึงทำให้เกิดกิจกรรมการจัดวิ่งเพิ่มขึ้น หน่วยงานต่างๆ ธุรกิจทั้งหลาย ใช้การวิ่งเป็นสื่อในการรณรงค์ เพื่อไปโฆษณาสินค้า วันครบรอบของหน่วยงานหรือบริษัท หรือการหารายได้เพื่อการกุศล
ในขณะเดียวกัน จึงกลายเป็นธุรกิจของการจัดวิ่งตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า รองเท้า เหรียญ ถ้วยรางวัล อาหาร การเดินทาง ที่พัก เม็ดเงินปลิวว่อนกันไปหมด จึงกลายเป็น “Sport Tourism” การท่องเที่ยวเชิงกีฬาที่มีพลังมากๆ นั่นเอง
นักวิ่งต้องรู้! เลือกงานวิ่งอย่างไรไม่ให้โดนเท น้ำไม่พอดื่ม
ในปัจจุบันนี้ มีงานวิ่งทั่วประเทศไทยนับพันรายการ บางสัปดาห์มีมากถึง 60 รายการ แล้วนักวิ่งจะมีวิธีเลือกอย่างไรบ้างนั้น กูรูการวิ่งอย่าง “พี่ป๊อก” นายอิทธิพล สมุทรทอง หัวหน้าทีมวิ่ง โครงการก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ มาร่วมแชร์ประสบการณ์
1. วัตถุประสงค์ในการวิ่งนั้น วิ่งเพราะอะไร หากต้องการวิ่งลดน้ำหนัก สามารถวิ่งตามสวนสาธารณะได้ ส่วนอยากหากิจกรรมในครอบครัวทำร่วมกัน หรือพาครอบครัวไปเที่ยวต่างจังหวัดก็สามารถลงวิ่งในระยะสั้นได้ รวมทั้ง วิ่งแบบมีธีม เช่น งานการกุศลหารายได้เข้าหน่วยงานต่างๆ หรือที่นิยมในตอนนี้ คือ Virtual Run นักวิ่งสามารถวิ่งในเวลาใดก็ได้ ในเส้นทางที่เป็นผู้กำหนดเอง โดยมีภาระกิจในการวิ่งในระยะที่กำหนด และเงื่อนไขของกิจกรรมนั้นๆ
2. มาตรฐานในงานวิ่ง ต้องรู้ว่าเจ้าของงานและผู้จัดงานคือใคร มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ต้องสืบประวัติและผลงานในการจัดวิ่งด้วย เพราะงานวิ่งบางงานก็ทิ้งเลย หรือเก็บเงินแล้วก็ต้องยกเลิก เพราะประเทศไทยยังขาดมาตรการควบคุมในการขออนุญาต การตรวจสอบคุณสมบัติขององค์กรที่จัดวิ่งทำให้เกิดปัญหาได้พอสมควร
3. องค์ประกอบต่างๆ ในเงินที่จ่ายไปมีค่าอะไรบ้าง อาหารการกินพร้อมหรือไม่ เพื่อที่จะได้วางแผนงบประมาณ และการเดินทาง
พ่อเมืองบางแสน เผยเทคนิค จัดงานวิ่งให้ประทับใจ
เชื่อว่านักวิ่งหลายคนคงเคยได้ยินกิตติศัพท์ “บางแสน มาราธอน” อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นงาน Bangsaen 42 และ Bangsaen 21 ซึ่งได้รับเสียงโหวตจากนักวิ่งว่า เป็นงานวิ่งที่ดีที่สุดแห่งปี
“นายกตุ้ย” นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี ในฐานะเจ้าภาพร่วมในการจัดการแข่งขัน บอกเคล็ดลับในการจัดงานว่า สิ่งสำคัญที่ผู้จัดต้องคำนึงถึงมากที่สุด นั่นคือ “ความปลอดภัยของนักวิ่ง”
งาน Bangsaen42 มีแพทย์ 200 คน เพราะในระยะทาง 42 km. เป็นระยะที่ไกล ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า นักกีฬา 7,000 คน เป็นมืออาชีพหรือว่าเป็นคนที่ใส่ใจสุขภาพ ซ้อมมาจนพร้อมที่จะวิ่งมาราธอนหรือไม่ แต่ผู้จัดขอไม่เสี่ยง เพราะฉะนั้น จึงมีทีมแพทย์เต็มสนามทุกๆ จุด และมีรถพยาบาล พร้อมเครื่องมือปั๊มหัวใจเตรียมพร้อมฉุกเฉิน
สำหรับเรื่องการบริหารจัดการ เตรียมน้ำดื่ม เกลือแร่ หรือเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ การลำเลียงผู้ป่วย เส้นทางฉุกเฉิน เรื่องความปลอดภัยของนักวิ่งสำคัญที่สุด ที่เหลือคือเรื่องการอำนวยความสะดวก การรับเบอร์วิ่ง การประสานงานกับหน่วยราชการ ไฟต้องสว่าง ถนนต้องไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ ขณะที่ ปัจจุบันมีการโปรโมตรายการวิ่งด้วยจุดขายที่ว่าเสื้อสวย เหรียญสวย แต่มองว่าเป็นเรื่องรองลงมา
“การที่จะจัดงานให้เป็นงานวิ่งที่ดี อันดับแรกอย่าไปนึกถึงตัวเงินหรือกำไรมาก เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของงานวิ่งคือความปลอดภัยของนักวิ่งมากกว่าครับ อย่างของบางแสน จะมีประกันอุบัติเหตุให้ ซึ่งน้อยงานมากที่จะมีประกันให้แก่นักวิ่ง” นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข กล่าว
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน