ข้อมูลชี้ 4 เดือนอันตรายช่วงปิดเทอม เด็กไทยตายจากอุบัติเหตุพุ่ง เดือน เม.ย.ครองแชมป์ยอดเสียชีวิตถึง 350 ราย จมน้ำเป็นสาเหตุคร่าชีวิตมากสุด ย้ำ 10 ทักษะความปลอดภัยที่เด็กต้องเรียนรู้...
เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2561 รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “การตายของเด็กจากอุบัติเหตุในช่วงปิดเทอมและ 10 ทักษะความปลอดภัยที่เด็ก ป.1-ป.3 ต้องมี” ว่า แต่ละปีเด็กไทยอายุ 1-14 ปีจะเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจำนวนกว่า 2,500 รายต่อปี หรือเฉลี่ย 200 รายต่อเดือน เดือนที่มีเด็กตายจากอุบัติเหตุสูงสุดคือเมษายน เฉลี่ย 350 รายต่อเดือน รองลงมาเดือนมีนาคม พฤษภาคม และตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ และปิดเทอมกลางปีของเด็ก จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความเสี่ยงที่พ่อแม่และชุมชนต้องตระหนักและช่วยกันดูแลเด็กๆ
ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ข้อมูลในปี 2560 พบร้อยละ 47 ของการตายในเด็กอายุ 1-14 ปีเป็นการตายจากการบาดเจ็บ อุบัติเหตุ และความรุนแรง สาเหตุสำคัญพบว่าร้อยละ 33 หรือ 700 รายตายจากการจมน้ำ แหล่งน้ำเสี่ยงมักอยู่ละแวกชุมชนใกล้บ้าน เช่น บ่อขุด หรือสระน้ำในชุมชน คลองหรือบริเวณชุมชน คลองหรือแม่น้ำบริเวณชุมชน รองลงมาร้อยละ 31 หรือ 700 รายตายจากภัยทางถนน เหตุจากการขับขี่ ซ้อนมอเตอร์ไซด์ เด็กขี่ เด็กซ้อน ถูกรถชนบริเวณชุมชน ที่เหลือร้อยละ 36 ตายจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ตกที่สูง ของชนกระแทก พลัดตกหกล้ม อาทิ ตกบันได หน้าต่าง ระเบียง ต้นไม้ ชิงช้า เสาฟุตบอล
...
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจสนามเด็กเล่นของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนทั่วประเทศ พบกว่าร้อยละ 90 ยังไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตามข้อมูลช่วง 10 ปีในช่วงปิดเทอมจะพบสาเหตุการตายจากค่าเฉลี่ยทั้งปี อันดับแรกสูงสุดร้อยละ 56 เป็นการตายจากการจมน้ำ รองลงมาร้อยละ 25 ตายจากภัยทางถนน ร้อยละ 8 ตายจากตกที่สูง ของแข็งชนกระแทก ร้อยละ 7 ตายจากความรุนแรง และร้อยละ 3 ตายจากไฟฟ้า
ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวด้วยว่า เด็กวัยเรียนมักเล่นห่างไกลพ่อแม่ จึงต้องมีทักษะในการอยู่รอดปลอดภัยด้วยตนเอง 10 ทักษะ ประกอบด้วย
1. ทักษะการพูดคุยกับคนแปลกหน้า การปฏิเสธความใกล้ชิดและการสัมผัสไม่เหมาะสม อายุที่ต้องทำได้ 4-6 ปี
2. ทักษะความปลอดภัยในบ้าน ของมีคม ของร้อน ไฟฟ้า สารพิษ ที่สูง ที่ลื่น ช่องรู เส้นสาย และสัตว์เลี้ยง อายุที่ต้องทำได้ 4-6 ปี
3. ทักษะความปลอดภัยทางน้ำ และการวิเคราะห์ความเสี่ยงในชุมชน อายุที่ต้องทำได้ 6-7 ปี
4. ทักษะการเดินถนนโดยลำพัง การขี่จักรยานอย่างปลอดภัย และการโดยสารรถยนต์ รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย อายุที่ต้องทำได้ 6-7 ปี
5. ทักษะการเล่นของเล่น สนามเด็กเล่น กีฬาอย่างปลอดภัย อายุที่ต้องทำได้ 6-7 ปี
6. ทักษะการใช้ไอทีอย่างปลอดภัย ให้ใช้อย่างถูกวิธี ป้องกันสื่ออันตรายและการถูกรังแก อายุที่ต้องทำได้ 6-7 ปี
7. ทักษะการปฐมพยาบาล ทำแผล ตามหน่วยฉุกเฉินและร่วมฝึกซ้อมภัยพิบัติ ชุมชน อายุที่ต้องทำได้ 6-7 ปี
8. ทักษะการกู้ชีพเบื้องต้น และเรียนรู้ความรับผิดชอบต่อสังคมในการมีส่วนร่วมในการกำจัดความเสี่ยง อายุที่ต้องทำได้ 9-10 ปี
9. ทักษะการข้ามถนน อายุที่ต้องทำได้ 9-10 ปี
10. ทักษะการดูแลตัวเองเมื่อต้องอยู่บ้านคนเดียว อายุที่ต้องทำได้ 10-12 ปี.