นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรณีข้อมูลการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักและผลไม้ที่กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันศึกษา มีหลายฝ่ายมองว่าไม่มีความน่าเชื่อถือนั้น ปัจจุบันได้สั่งให้ผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯประสานงานกับสาธารณสุข เพื่อชี้แจงผลการศึกษาวิเคราะห์สารเคมีตกค้างอีกครั้ง อาทิ
1.การเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้าง โดยเก็บตัวอย่างตั้งแต่แปลงเกษตรกร โรงคัดบรรจุผักผลไม้สด ห้างค้าปลีก ตลาดค้าส่งค้าปลีก และครัวของโรงพยาบาลรัฐมาวิเคราะห์ 7,054 ตัวอย่าง ซึ่งถือเป็นการตรวจวิเคราะห์ที่ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่มีการศึกษามาในประเทศ
2.ผลการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้าง จะใช้วิธีการประเมินและเปรียบเทียบกับค่าความปลอดภัยที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)
3.ผลการตรวจวิเคราะห์ผักและผลไม้ 7,054 ตัวอย่าง พบสารพิษ ตกค้างในระดับที่เกินมาตรฐาน 790 ตัวอย่าง คิดเป็น 11% ซึ่งทั้ง 790 ตัวอย่างนี้ กระทรวงเกษตรฯและสาธารณสุขได้ลงไปตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิต เพื่อตักเตือนแนะนำให้ใช้สารเคมีให้ถูกต้อง รวมทั้งสั่งให้มีการแก้ไข ซึ่งหากแก้ไขไม่ได้ก็จะดำเนินการถอนใบรับรอง รวมทั้งจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
4.ผลการประเมินระดับสารพิษตกค้างในผักผลไม้ 790 ตัวอย่างที่เกินมาตรฐาน ซึ่งประเมินตามข้อมูลปริมาณที่คนไทยบริโภคจริงพบว่าจาก 790 ตัวอย่าง มี 10 ตัวอย่าง ที่พบสารเคมีสูงเกินระดับที่ปลอดภัย คิดเป็น 0.14% ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจ ซึ่งส่วนใหญ่พบในส้ม โดยเป็นการ ตรวจส้มทั้งเปลือก ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีผลการศึกษาว่า สารเคมีที่พบในส้มนั้น เมื่อนำส้มไปล้างทั้งผลและปอกเปลือกออกสารพิษตกค้างจะลดลงมากกว่า 40-80% และอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค.