ประเมิน 12 ปี รัฐประหาร เศรษฐกิจพัง 3.65 เท่าของเม็ดเงินงบ 62

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ประเมิน 12 ปี รัฐประหาร เศรษฐกิจพัง 3.65 เท่าของเม็ดเงินงบ 62

Date Time: 23 ก.ย. 2561 17:45 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • นักวิชาการ ประเมิน 12 ปี รัฐประหาร เศรษฐกิจเสียหาย 3.65 เท่าของเม็ดเงินงบปี 62 ชี้ รัฐบาล คสช. ก่อหนี้ผูกพันงบแผ่นดิน ยาวจนถึงปี 65 คาดหวังเลือกตั้งครั้งหน้ามีเสรี-เป็นธรรม หนุนเศรษฐกิจโต...

Latest


นักวิชาการ ประเมิน 12 ปี รัฐประหาร เศรษฐกิจเสียหาย 3.65 เท่าของเม็ดเงินงบปี 62 ชี้ รัฐบาล คสช. ก่อหนี้ผูกพันงบแผ่นดิน ยาวจนถึงปี 65 คาดหวังเลือกตั้งครั้งหน้ามีเสรี-เป็นธรรม หนุนเศรษฐกิจโตในอนาคต...

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลกระทบจากรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ในโอกาสครบรอบ 12 ปี และประเมินอนาคตเศรษฐกิจการเมืองไทย ว่า ประเทศไทยได้สูญเสียโอกาสในการก้าวข้ามพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากติดกับดักในวิกฤตการณ์ทางการเมืองและการรัฐประหารสองครั้งในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็น “ทศวรรษแห่งความถดถอยและสูญเสียโอกาส” รัฐประหารปี 2549 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่านอกจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองแล้ว ยังทำให้ปัญหาความขัดแย้งทรุดหนักมากกว่าเดิมในระยะต่อมา

“12 ปีหลังการรัฐประหาร ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 6 คน มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้ไม่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจได้มากนัก การมีรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ควบคุมอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่มุ่งปฏิรูปการเมืองให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 ในยุครัฐบาลสมัคร ต่อมาจนถึง รัฐบาลสมชาย รัฐบาลอภิสิทธิ์ จนกระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำงานด้านนโยบายระยะยาวให้กับประเทศได้”

ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีความล้าหลังและมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 จึงไม่อาจคาดหวังได้ว่า หลังการเลือกตั้งต้นปี 2562 แล้ว ประเทศไทยจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีความเข้มแข็งมั่นคง หากประชาชนช่วยกันแสดงเจตนารมณ์ผ่านการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นเอกภาพและสามารถจัดตั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพ โอกาสในการผลักดันให้ประเทศก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในทศวรรษหน้าย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

นอกจากนี้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารสองรัฐบาลในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา พบว่า งบประมาณทหารจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในยุครัฐบาลรัฐประหาร โดยรัฐบาลประยุทธ์มีการจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงกลาโหมสูงกว่ารัฐบาลสุรยุทธ์อย่างมาก แม้จะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเหมือนกัน และรัฐบาล คสช. ยังก่อหนี้ผูกพันในงบประมาณแผ่นดินไปจนถึงปี 2565 หากกองทัพถอยออกจากการเมืองและมีความเป็นทหารอาชีพ ไม่เข้าแทรกแซงด้วยการก่อรัฐประหารอีก ปล่อยให้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในอนาคตถูกแก้ไขโดยกลไกรัฐสภาและกระบวนการทางกฎหมาย ระบอบประชาธิปไตยย่อมมีความมั่นคงและเป็นรากฐานสำคัญต่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

สำหรับความเสียหายทางเศรษฐกิจ โอกาสทางการลงทุน การชะงักงันของกิจกรรมและธุรกรรมทางเศรษฐกิจการค้า โดยรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตลาดหุ้นเปิดทำการซื้อขายวันแรกหลังรัฐประหาร (21 กันยา) ปรับตัวลงไปแรงที่สุด 29.56 คิดเป็น 4.2% ช่วงเปิดตลาดแต่ช่วงใกล้ปิดตลาดดัชนีกระเตื้องขึ้นจึงปรับตัวลงไปเพียง 1.42% เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจขณะนั้นยังแข็งแรงอยู่ ส่วนรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ในวันถัดมาหลังรัฐประหารดัชนีปรับลงแรง 57.4 จุดหรือ 7.25%

ทั้งนี้หากตั้งสมมติฐานว่า ไม่มีการรัฐประหารสองครั้งและไม่มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองรุนแรงในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 5% ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมารวมทั้งสมมติให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่ เมื่อเทียบกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นสามารถประมาณการเบื้องต้นความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการรัฐประหารได้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นต่อการลงทุนและการบริโภค ความเสียหายทางเศรษฐกิจ โอกาสทางเศรษฐกิจ การลงทุน การค้า และโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จะอยู่ที่ประมาณ 10.970 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับ 3.65 เท่าของเม็ดเงินงบประมาณปี 2562 และเม็ดเงินดังกล่าวหากไม่เสียหายไปจากผลกระทบของการรัฐประหารประเทศและวิกฤตการณ์ทางการเมืองย่อมสามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศได้โดยไม่ต้องเก็บภาษี ไม่ต้องก่อหนี้สาธารณะเป็นเวลา 3.65 ปี

อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจของรัฐประหารปี 2549 กับ รัฐประหารปี 2557 มีความแตกต่างกัน เนื่องจากรัฐประหารปี 2549 เกิดขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจดีกว่า ขณะที่ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี 2557 มีความซับซ้อนมากกว่า ในอนาคตขอให้ติดตามพลวัตของผลพวงของรัฐประหารปี 2557 พลวัตของการสืบทอดอำนาจของ คสช. หลังการเลือกตั้งและการต่อต้านการสืบทอดอำนาจว่าจะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไปหลังการเลือกตั้ง หากการจัดการเลือกตั้งมีความเสรีและเป็นธรรมเป็นไปตามมาตรฐานสากล กระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจจะเป็นไปอย่างสันติและเป็นไปตามความต้องการของประชาชนจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศในอนาคต. 



Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ