นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาการใช้อำนาจของคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ.2522 มาตราที่ 5 ที่ให้คณะกรรมการดังกล่าวสามารถพิจารณากำหนดเขตพืชเศรษฐกิจหรือโซนนิ่ง เพื่อนำมาใช้กำหนดพื้นที่การปลูกพืชแต่ละชนิดตามพื้นที่เหมาะสม ทั้งนี้จะนำมาใช้กับยางพาราเป็นพืชแรก เนื่องจากปัจจุบันมีการปลูกยางพาราทุกภาคของไทยจากอดีตที่ปลูกเฉพาะภาคใต้ ทำให้ผลผลิตสูงถึง 4.5 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ไทยส่งออกได้เพียง 3 ล้านตันเท่านั้น รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านยังขยายพื้นที่ปลูกยางมากขึ้น ทำให้ผลผลิตที่ได้เกินความต้องการของตลาด และราคายางพารายังอิงกับราคาตลาดล่วงหน้า ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้ราคาตกต่ำต่อเนื่อง
“การแก้ปัญหานี้ต้องเริ่มจากการควบคุมการผลิต ปลูกเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสม มีโฉนดถูกต้อง เพื่อจำกัดปริมาณไม่ให้เกินความต้องการใช้ ส่วนยางที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมหรืออยู่ในพื้นที่ป่ากว่า 2 ล้านไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีมติโค่นทิ้งต้องหารืออีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะส่วนใหญ่เป็นของชาวสวนยางที่มีรายได้น้อยไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง นายกรัฐมนตรีจึงให้ชะลอมาตรการโค่นทิ้งไปก่อน”.