'ปลัดแรงงาน' ควง 'สปส.' โต้ปมจ่อเก็บเพิ่มเงินสมทบประกันสังคม 1,000 บาท แจงยังอยู่ในขั้นตอนทำความเข้าใจ ยันกองทุนประกันสังคมยังแข็งโป๊ก 1.8 ล้านล้านบาท เชื่อไม่ถังแตกแน่นอน...
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่กระทรวงแรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม และนายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ร่วมแถลงถึงกรณีที่สำนักงานประกันสังคม จะเก็บเงินสมทบรายเดือนกับผู้ประกันตนเพิ่ม จากเดิมที่มีเพดานเงินสูงสุดที่เดือนละ 750 บาท เป็น 1,000 บาท ขอยืนยันว่าในขณะนี้บอร์ดประกันสังคมยังไม่ได้มีการอนุมัติให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เพียงแต่เป็นข้อเสนอของคณะอนุกรรมการประกันสังคมที่ได้เสนอมายังบอร์ดเมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นการเพิ่มฐานการเก็บเงินสมทบ จากเดิมที่ใช้การคำนวณจากผู้มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท โดยจะหัก 5% ทำให้จ่ายสูงสุดเดือนละ 750 บาท ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 20 ปี ตั้งแต่ปี 2538 และขณะนั้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 111 บาท แต่ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 310 บาท
นายจรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเพียงการเสนอเข้ามาให้พิจารณา แต่บอร์ดประกันสังคมเห็นว่าหากทำไปแล้วจะสร้างผลกระทบต่อผู้ประกัน นายจ้าง และเงินสมทบของทางรัฐบาล จึงได้ให้กลับไปทำความเข้าใจกับทางประชาชน ผ่านการรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ว่าหากต้องจ่ายเพิ่มผู้ประกันตนจะมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไรบ้าง ขั้นตอนขณะนี้ยังอยู่ในส่วนของการรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้ข้อเสนอแล้วจะนำข้อมูลมารวบรวมแล้วจะส่งให้บอร์ดประกันสังคมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
"สาเหตุที่จะให้มีการพิจารณาเรียกเก็บเพิ่ม มาจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงรัฐบาลต้องการเพิ่มสิทธิให้กับผู้ประกันตนมากขึ้น จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายอีกครั้ง ผ่านช่องทางที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นช่องทางผ่านเวทีรับฟัง ออนไลน์ หรือสายตรง 1506 เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในเดือน ต.ค."
ทางด้าน นายสุรเดช กล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา สปส.ได้ดำเนินมาแล้วกว่า 5 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ รวมถึงในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยที่หลายฝ่ายยังมีความเห็นที่แตกต่าง มีหลายความคิดเห็นที่เสนอเข้ามา ทาง สปส.จึงต้องนำข้อมูลเหล่านี้มารวบรวมให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสมที่สุด
อย่างไรก็ตาม นโยบายการปรับเพดานเงินผู้ประกันตนในครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับสถานะทางการเงินของกองทุน สปส. ขอยืนยันว่าสถานะทางการเงินของกองทุนประกันสังคม ไม่ได้มีปัญหา หรือติดขัดอะไร ตามที่หลายฝ่ายมองว่า สปส.ขาดทุน หรือกองทุนจะมีปัญหาในอนาคต เพราะจากตัวเลขในขณะนี้ กองทุนประกันสังคมมีเงินสะสมมากกว่า 1.8 ล้านล้านบาท มีผลตอบแทนจากการลงทุนในปี 2560 กว่า 5.8 หมื่นล้านบาท และเป็นส่วนของรายจ่ายเพียง 7 หมื่นล้านบาท จึงไม่เป็นผลกระทบต่อเงินในกองทุนแน่นอน.