Credit : Peng Zhang

เมอร์ซา (MRSA) เป็นเชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไป ทั่วโลก ไม่สามารถรักษาได้และเป็นอันตรายถึงชีวิต เชื้อดังกล่าวเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของแบคทีเรียชื่อสแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ที่เป็นต้นเหตุการติดเชื้อในอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย

ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซินซินเนติ ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า กำลังพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อรับมือกับเชื้อแบคทีเรียดื้อยา โดยเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะเข้าสู้แบบเดิมอีกต่อไป แต่ใช้สารที่เป็นอนุภาคนาโนสามารถดูดซับรังสีของแสงที่เรียกว่า นาโนพาร์ทิเคิล โฟโตเซนซิไทเซอร์ (nanoparticle photosensitizer) เป็นตัวกระตุ้น เปลี่ยนให้ออกซิเจนกลายเป็นสายพันธุ์ออกซิเจนชนิดที่ทำปฏิกิริยากับเชื้อโรคโดยจะยับยั้งเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดรวมถึงแบคทีเรียดื้อยาได้

ในอนาคตอาจได้เห็นการออกแบบที่ผสมผสานสารที่ดูดกลืนแสง นำไปพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ในแบบสเปรย์หรือเจล ซึ่งสามารถใช้กับพื้นผิวใดๆก็ได้ เมื่อส่องด้วยแสงสีฟ้าหรือสีแดงก็จะช่วยขจัดแบคทีเรียชนิดต่างๆ และแบคทีเรียดื้อยาเมอร์ซา ซึ่งทีมวิจัยได้ทำการทดลองกับตัวอย่างของผิวหนังมนุษย์ พบว่าสารโฟโตเซนซิไทเซอร์ไม่ได้ทำลายเซลล์ผิวหนัง และแสงสีแดงที่มีความยาวคลื่นที่ยาวสามารถแทรกซึมลึกลงไปใต้ผิวหนัง ก็น่าจะเป็นวิธีสำคัญสำหรับการรักษามะเร็งผิวหนังเช่นกัน.

...