เกษตรฯหารือ ธปท.-ก.ล.ต.-คลัง เร่งตั้งเกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์ 1,461 แห่ง หวั่นขาดสภาพคล่องหลังพบเงินสดเหลือน้อยมาก แถมให้สมาชิกกู้เวียนหนี้ใหม่ใช้หนี้เก่า-ใช้ส่วนตัว ทะลุ 1.9 ล้านล้าน ขณะที่ 3 สหกรณ์ส่อเค้าไม่ดี หลังมีแนวโน้มทุจริต จนอาจล้มละลายตามรอยสหกรณ์คลองจั่น กระทบผู้ฝากเงินและสหกรณ์อื่นเสียหาย
นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารจัดการและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ ครั้งที่ 1/2561 ว่า คณะกรรมการฯคณะนี้ตั้งขึ้นมาตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้มีการดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์เพิ่มขึ้น โดยมีกรรมการจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้ามาให้คำปรึกษา เสนอแนะมาตรการต่างๆ รวมทั้งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาการดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ที่มีสัดส่วนหนี้สินสูงมากและแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีสหกรณ์จำนวน 1,461 แห่ง สมาชิกรวม 3.21 ล้านคน และกำลังมีปัญหาเรื่องการบริหารด้านการเงิน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประชาชนหันมาฝากเงินในระบบสหกรณ์มากขึ้นแทนการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นๆมากขึ้น เพราะให้อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 3-4% ส่งผลให้เงินฝากของระบบสหกรณ์มีมูลค่าสูงมากถึง 2 ล้านล้านบาท และสหกรณ์จะนำเงินเหล่านั้นมาแสวงหากำไร โดยการปล่อยเงินกู้ให้กับสมาชิก ให้สหกรณ์ออมทรัพย์กู้ และลงทุนในตลาดตราสารหนี้ อาทิ การซื้อพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ รวมจำนวนเงินให้กู้ทั้งหมด 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเงินฝาก ทำให้ภาครัฐกังวลว่าอาจทำให้สหกรณ์จะขาดสภาพคล่องได้
“นายสมคิดได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ แก้ไขปัญหาระบบการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยใช้อำนาจตามกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สหกรณ์ พ.ศ.2542 ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ เข้าไปกำกับดูแลสหกรณ์ทั้ง 1,461 แห่ง เนื่องจากมีสัดส่วนเงินฝากและเงินกู้มีจำนวนใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ สหกรณ์ยังเปิดให้สมาชิกกู้หมุนเวียน กู้ใหม่เอาไปใช้หนี้เก่า และกู้ใช้ส่วนตัว ไม่เหมือนนักธุรกิจที่นำไปต่อยอด รวมทั้งสถาบันการเงินธนาคารต่างๆ ยังมี พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ธปท.ควบคุม แต่สหกรณ์ไม่มี จึงกลัวว่าสหกรณ์เหล่านี้จะขาดสภาพคล่อง”
นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ที่ประชุมครั้งนี้ ได้มีมติให้กำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแล โดยตั้งอนุกรรมการศึกษาข้อมูล ประกอบด้วย ตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ ธปท. คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย โดยให้เวลา 30 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. เป็นต้นไป ทั้งนี้ เมื่อได้ผลศึกษาให้นำมาเสนอคณะกรรมการชุดนี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเพื่อออกเป็นกฎกระทรวงเกษตรฯ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายสหกรณ์ พ.ศ.2542 เน้นกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ ตั้งแต่การระดมเงินฝาก การนำเงินฝากไปลงทุน การให้สมาชิกกู้ การจ่ายเงินปันผล และการจ่ายโบนัส
สำหรับสถานะของสหกรณ์ทั้งระบบในขณะนี้ พบว่า มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในรอบ 5 ปี ระหว่าง 2556-2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2556 มีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 4,939.45 ล้านบาท หรือ 0.36% ของหนี้ทั้งระบบ ขณะที่ปี 2560 ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็น 11,601.10 ล้านบาท หรือ 0.60% ของหนี้ทั้งระบบ นอกจากนั้น ณ 31 ก.ค.2561 พบข้อบกพร่องในสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนียน 51 แห่ง จำนวน 80 รายการ วงเงิน 9,648.80 ล้านบาท แบ่งเป็น การทุจริต 13 แห่ง 373.11 ล้านบาท พบข้อบกพร่องทางบัญชี 6 แห่ง 34.39 ล้านบาท มีข้อบกพร่องทางการเงิน 11 แห่ง 144.36 ล้านบาท ดำเนินการนอกกรอบวัตถุประสงค์ 12 แห่ง วงเงิน 667.79 ล้านบาท และพฤติกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายจำนวน 17 แห่ง 8,423.15 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เสนอให้คณะกรรมการพิจารณา กรณีที่พบสหกรณ์จำนวน 3 แห่ง ซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ และสหกรณ์ออมทรัพย์ของตำรวจ มีแนวโน้มที่อาจจะขาดสภาพคล่องและแนวโน้มส่อไปในทางการทุจริต แต่ไม่สามารถเข้าตรวจสอบได้เพราะมีนักการเมืองพรรคใหญ่รายหนึ่งไม่ให้เข้าตรวจสอบ ซึ่งทั้ง 3 สหกรณ์นี้มีมูลค่าสูงกว่าสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งทางคณะกรรมการกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะหากมีการล้มละลายอาจจะกระทบกับผู้ฝากเงินจำนวนมากและกระทบไปถึงสหกรณ์ออมทรัพย์อื่นๆ เนื่องจากระบบสหกรณ์มีการปล่อยกู้ระหว่างกันด้วย.