บี บางปะกง
ท่ามกลาง “วิกฤติศรัทธา” ของฟุตบอลไทยยามนี้ คุณธีระ แซ่หว่าง แฟนคอลัมน์ “ตะลุยฟุตบอลโลก” ตัวยง เขียนเมลมาแชร์ความรู้สึกกับผมไว้น่าสนใจ ลองอ่านดูนะครับ...
OOOOOOOO
สวัสดีคุณบี อันเป็นที่รัก ชื่นชอบของแฟนพันธุ์แท้ลูกหนัง ขอให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงๆๆ อยู่เป็นเพื่อนคิดเพื่อนคุยกับพวกเราไปอีกนานเท่านาน
เขียนมาวันนี้บอกไว้จะไม่เอ่ยถึงเรื่องท็อปปิกในโซเชียล “กรูอาย–กรูไม่อาย” ด้วยตั้งใจเขียนด้วยความรู้สึกแสนเสียดายมูลค่าการตลาดของ “ไทยลีก” กำลังโดนผู้ไม่มีความรักรอบรู้ในกีฬาฟุตบอลซึ่งคนทั้งโลกหลงใหล เหยียบย่ำทำลายให้ย่อยยับ
5 ปีก่อนมีสักคนคิดไหมว่าค่าการตลาดของไทยลีกจะสูงถึงปีละพันล้านบาท แต่ 2 ปีต่อมา “เซอร์เดวิด ริชาร์ด” อดีตประธานพรีเมียร์ลีก เข้ามาเป็นที่ปรึกษาสมาคมฟุตบอลไทยก็ทำเซอร์ไพรส์ เรียกแฟนเข้ามาดูไทยลีกล้นหลามสนามมีความจุไม่พอกับปริมาณผู้ชม
จนสามารถสร้างมูลค่าการตลาด ให้ “ไทยลีก” สูงถึงปีละ 1,050 ล้านบาท (สัญญา 4 ปี 2560–2563 ได้เงิน 4,200 ล้าน)
ผมไม่เอ่ยชื่อผู้บริหารสมาคมฟุตบอลกับทีมงานผู้สร้าง “บิ๊กดีล” ในยุคนั้นให้กระเทือนซางอันแสนบอบบางของคนที่อับอายเพราะเห็นทีมชาติไทยแพ้ญี่ปุ่น 0-4 แต่กลับกล้านำการตกรอบแรกเอเชียนเกมส์ของช้างศึกไปเทียบกับทีมเยอรมนีตกรอบเวิลด์คัพ รัสเซีย
สมาคมฟุตบอลผลัดใบสภากรรมการชุดใหม่มา 2 ปีครึ่งแล้ว บริหารงานในรูปแบบใหม่, พัฒนาฟุตบอลไทยทุกด้าน, พัฒนาผู้ตัดสิน, พัฒนาโค้ชผู้ฝึกสอน สู่เป้าหมายอีก 8 ปี “ทีมช้างศึก” จะไปผงาดในฟุตบอลโลก 2026
คุณบีครับ ทำไมผมเห็นว่า “แนวคิดกับการกระทำของสภากรรมการฟุตบอลชุดนี้ ไปในทิศทางตรงข้าม ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง” ซึ่งปรากฏชัดเจนที่สุดแบบไม่ต้องเถียงคือ แฟนๆ เข้าดูบอลในสนามน้อยลง, การแข่งขันมีปัญหาทุกดิวิชัน, ผู้ตัดสินไร้มาตรฐาน ฯลฯ
เหตุพวกนี้มันควรเรียกว่า “อพัฒนา” หรือ “ถอยหลังลงรู” ถูกต้องกว่าไหมครับ?
ที่สำคัญสภากรรมการฟุตบอลชุดใหม่เปลี่ยนแปลงสิ่งที่อ้างว่าเป็นเรื่องการพัฒนา มาร่ายให้คุณบี วิเคราะห์เป็นข้อๆ ทำแล้วเป็นการพัฒนาจริงๆหรือ? (ต่อตอนหน้า)
บี บางปะกง