นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงว่าคนไทยส่วนใหญ่เห็นต่าง จากทีมเศรษฐกิจและหน่วยงานรัฐบาล ที่โฆษณาว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยขณะนี้ กำลังเฟื่องฟู แต่ผลการสำรวจความเห็นของประชาชน กลับพบว่าคนไทยทุกเพศทุกวัยมีความเครียด รู้สึกเบื่อหน่าย และไม่มีความสุข เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง แสดงว่าภาครัฐมองจีดีพี แต่ชาวบ้านมองปากท้อง

เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้แจงว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ในครึ่งปี 2561 ขยายตัวสูงขึ้น 4.8% เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ตอนนี้เศรษฐกิจขยายตัวลงลึกถึงระดับฐานรากแล้ว มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการก่อสร้าง คาดว่าปีนี้ทั้งปี จีดีพีจะขยายตัว 4.2-4.7%

แต่ผลการวิจัยเชิงสำรวจของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่องดัชนีความเครียดของคนไทย จากกลุ่มตัวอย่างใน กทม. เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา พบว่า คนส่วนใหญ่ (77.08%) มีความเครียดเรื่องเศรษฐกิจและการเงินมากกว่าเรื่องอื่นๆ และเครียดทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มวัยเรียน วัยทำงาน จนถึงวัยชรา เครียดมากสุดเพราะราคาสินค้าและบริการแพง

ปัญหาราคาสินค้าและบริการแพง ปัญหาหนี้สิน รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ค่าครองชีพสูง ทำให้คนส่วนใหญ่วิตกกังวล ไม่แน่ใจว่าภาวะเศรษฐกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะสอดคล้องกับหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลที่อ้างว่าดีขึ้นหรือไม่ ทำให้คนบางส่วนต้องหาอาชีพเสริม บางส่วนปล่อยวางทำใจให้ยอมรับความเป็นจริง ส่วนใหญ่เบื่อหน่าย ไม่มีความสุข และหมดกำลังใจ

มีข้อมูลระบุว่าไทยเป็นประเทศ มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นประเทศที่แบกรับหนี้ครัวเรือนมากที่สุด ในกลุ่มอาเซียน เป็นที่ 2 รองจากมาเลเซีย คนไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 77.7% ของจีดีพี สูงกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนา และกลุ่มจี 20 มีคนเป็นหนี้ครัวเรือน 50.7% ไม่มีหนี้ครัวเรือน 49.3% ลูกหนี้ 1 ใน 4 มีปัญหาจ่ายคืนหนี้ และหนี้ทำให้เกิดทุกข์

...

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผลการสำรวจความเห็นประชาชนหรือโพล พบว่าคนส่วนใหญ่มีความเห็นต่าง จากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ฝ่ายรัฐบาลโฆษณามาอย่างต่อเนื่อง ทำนองว่าเศรษฐกิจกำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟู ฝ่ายชาวบ้านกลับมีความเห็นตรงข้าม แสดงว่าเศรษฐกิจของประเทศดี แต่เศรษฐกิจชาวบ้านไม่ดีใช่หรือไม่

หรืออาจจะเป็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมดี ทั้งเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน แต่จะเป็นประชาชนบางกลุ่มที่ร่ำรวยอู้ฟู่ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับอานิสงส์ เพราะระบบการกระจายรายได้ไม่ทั่วถึง แต่คงจะไม่ถึงกับมองว่าโพลบิดเบือน หรือกล่าวหาประชาชนจงใจใส่ร้ายรัฐบาล หากรัฐบาลเห็นว่ามีการบิดเบือนจริง น่าจะชี้แจงให้ชัดเจน เพราะรัฐมีสื่อในมือมากมาย.