“คนทางเหนือมักจะนำต้นอ่อนข้าวเหนียวสันป่าตองมาคั้นเป็นน้ำดื่มก่อนออกไปทำนาทำไร่ ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น ทั้งยังช่วยสร้างเสริมสุขภาพที่ดี”

จากความสนใจในจุดนี้ ผศ.ดร.ชุติมา คงจรูญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงได้ศึกษาน้ำคั้นต้นอ่อนข้าวเหนียวสันป่าตองมีอะไรดี...พบว่าในน้ำคั้นนั้นมีสารชีวภาพออกฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ และสามารถต้านการก่อเกิดของอนุมูลอิสระสูง

...

จึงนำน้ำคั้นต้นอ่อนข้าวเหนียวสันป่าตองมาทำการวิจัยต่อยอด...หาวิธีกระตุ้นให้ต้นกล้าข้าวเหนียวสันป่าตอง ผลิตพฤกษเคมีมากกว่าการเพาะปลูกต้นกล้าแบบธรรมดา

โดยนำโปรตีนไฮโดรไลเซท 25 กรัม ผสมกับน้ำ 1 ลิตร นำไปแช่ข้าวเปลือกสันป่าตอง 2 คืน จากนั้นนำมาตากในโรงเรือนให้แห้งอีก 2 คืน ก่อนจะนำใส่กระบะเพาะปลูกจนงอกเป็นต้นอ่อนอายุ 5-15 วัน ตัดรากทิ้ง นำไปอบให้แห้งที่อุณหภูมิ 40 ํ C แล้วจะนำมาบดให้ละเอียดจนกลายเป็นผงที่ได้ออกมามีสีเขียวคล้ายชาเขียว และมีกลิ่นหอม

ผลจากการนำต้นอ่อนอายุต่างๆมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ต้นอ่อนระยะไหนให้สารออกฤทธิ์มากที่สุด....พบว่าต้นอ่อนอายุ 9 วัน มีสารในกลุ่มโพลีฟีนอล 6 ชนิด คือ Catechin, Gallic acid, Isoquercetin, Quercetin, Rutin และ Tannic acid มากที่สุด อีกทั้งเป็นช่วงที่ให้กลิ่น หอมมากด้วย รับประทานแล้วจะมีความหวานเป็นลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว

ให้ชื่อผลิตภัณฑ์นี้ว่า “ผงใบข้าวหอม” (aroma rice powder) มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ชนิดมีใยอาหาร และไม่มีใยอาหารผงชนิดที่มีใยอาหาร...เหมาะสำหรับ นำไปเป็นส่วนประกอบอาหารว่าง เช่น ผสมลงในข้าวแต๋น ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี มะพร้าวแก้ว มันฝรั่งทอด คุกกี้ ขนมปัง ฯลฯ

ผงชนิดไร้ใยอาหารเหมาะที่จะนำมาทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สำหรับผู้บริโภคในกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคอันเนื่องมาจากภาวะเครียด และจากการนำไปให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ทดลองดื่ม ผศ.ดร.ชุติมา บอกว่า ผู้ป่วยโรคเครียดมีสุขภาพดีขึ้นตามลำดับ

จากผลสำเร็จนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการอาหารว่างในเชียงใหม่พัฒนาต้นแบบผงใบข้าวหอมออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ในตำรับเวชสำอาง และเตรียมต่อยอดไปสู่วิจัยต้นอ่อนข้าวดอกมะลิ 105 และข้าวพันธุ์อื่นๆต่อไป

อยากพิสูจน์สัมผัส “ผงใบข้าวหอม” เป็นอย่างไร ไปดูได้ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 (Thailand Research Expo 2018) ระหว่าง 9-13 ส.ค.นี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กทม.

...

ไชยรัตน์ ส้มฉุน