ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจกแจงถึงสาเหตุที่ทำให้มะพร้าวแกงในไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤติขาดแคลนมาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นจัดสรรที่ดินเข้ามาเบียดบังพื้นที่สวน ปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนแรงงาน และการระบาดของหนอนหัวดำ แมลงดำหนามและด้วงแรดอย่างต่อเนื่อง
“จากพื้นที่ปลูก 1,240,874 ไร่ ใน 55 จังหวัด พบการระบาดของหนอนหัวดำ 28 จังหวัด รวม 78,954 ไร่ ส่งผลให้ ปี 2558 มีปริมาณ 904,025 ตัน ปี 2559 ลดลงเหลือ 884,392 ตัน และปี 2560 เหลือแค่ 839,678 ตัน ขณะที่ความต้องการมะพร้าว เพื่อใช้ในอุตสาห– กรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้ส่งผลให้ราคามะพร้าว แกงจากเดิมอยู่ที่ กก.ละ 4-5 บาท ช่วงปี 2557-2561 ราคาไปอยู่ที่ กก.ละ 6-13 บาท จนต้องมีการนำเข้ามะพร้าวแกงจากอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา และฟิลิปปินส์ เข้ามาตามที่ผู้ประกอบการยื่นขอต่อคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ภายใต้เงื่อนไขต้องปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยพืช มะพร้าวที่นำเข้าต้องมีใบอนุญาตนำเข้า ต้องเป็นมะพร้าวแก่ที่ผ่านการปอกเปลือกมาแล้ว ไม่มีการงอกทั้งในส่วนของก้านใบ หน่อ หรือยอดอ่อน มีใบรับรองการรมด้วยสารรมเมทธิลโบรไมด์ เพื่อทำลายความงอกและกำจัดแมลงแนบมากับสินค้าทุกครั้งที่นำเข้า และเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับราคาซื้อ-ขายมะพร้าวในประเทศมีปัญหา ล่าสุด ครม.ยังมีมติสั่งงดการนำเข้ามะพร้าวแกงในระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มะพร้าวไทยออกสู่ตลาด”
...
อย่างไรก็ตาม ดร.วิณะโรจน์ เผยว่า ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา ไทยมีการลักลอบนำเข้ามะพร้าวผิดข้อกำหนดถูกตรวจยึดและนำไปเผาทำลายมากถึง 128,924.9 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,290.5 ล้านบาท จนเป็นที่หวั่นว่ามะพร้าวบางส่วนที่หลุดรอดไปได้ อาจจะนำแมลงศัตรูมะพร้าว ตัวใหม่เข้ามาซ้ำเติมสวนมะพร้าว ของไทยอีก เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอ ต่อการใช้และลดการนำเข้า ปีนี้กระทรวงเกษตรจึงจัดโครงการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีแซมสวนเก่า 23,348 ไร่ คาดว่าภายใน 3-5 ปีถึงเห็นผล.