ปรับราคาหนีไขมันทรานส์

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปรับราคาหนีไขมันทรานส์

Date Time: 18 ก.ค. 2561 08:31 น.

Summary

  • เป็นห่วงเอสเอ็มอีอาหารช็อก!! ประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์ ด้านเอเซียพลัสสุ่มถามบริษัทขนมปัง เบเกอรีในตลาดหุ้น ระบุพร้อมขยับราคาหรือลดขนาดลงรับต้นทุนเพิ่ม

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

ขนมปัง-เบเกอรีรับมือต้นทุนแพงขึ้น

เป็นห่วงเอสเอ็มอีอาหารช็อก!! ประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์ ด้านเอเซียพลัสสุ่มถามบริษัทขนมปัง เบเกอรีในตลาดหุ้น ระบุพร้อมขยับราคาหรือลดขนาดลงรับต้นทุนเพิ่ม ร้านกาแฟอเมซอน–แบล็คแคนยอน–คริสปี้ครีมตั้งเป้าปลอดไขมันทรานส์ 100% ด้านพิซซ่าฮัท เลย์ ยืนยันเอี่ยมอ่องอรทัย

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 19 ก.ค.นี้ ทางกลุ่มฯเตรียมนำประเด็นการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่มีส่วนประกอบหรือใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นกรดไขมันทรานส์ หารือในที่ประชุมกลุ่มอาหารฯ เนื่องจากขณะนี้ยังมีผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอีจำนวนมากยังไม่เข้าใจว่าต้องใช้อะไรมาชดเชย โดยจะเปิดสัมมนาให้ความรู้ภายในเดือนนี้ ก่อนบังคับใช้จริง 6 เดือน หรือ 180 วันนับจากนี้

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเบื้องต้นในด้านภาพรวมเศรษฐกิจ คงไม่ค่อยมี เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ผลิตอาหารเพื่อการส่งออก ได้ปรับตัวไปก่อนหน้านี้เฉลี่ยประมาณ 5-6 ปี เพราะหลายๆประเทศตื่นตัวในเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพมานานแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการรายย่อย ร้านเล็กๆ ที่ยังยึดติดสูตรขนม หรือสูตรอาหารแบบเดิมๆที่ตกทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งไขมันทรานส์จะช่วยให้ขนมมีกลิ่นหอม และรสชาติอร่อย จึงต้องปรับสูตรใหม่ หาวัตถุดิบใหม่ เพื่อให้รสชาติหรือกลิ่นคล้ายเดิม ซึ่งตอนนี้ผู้ประกอบการในกลุ่มน้ำมันพืชต่างก็ได้พยายามคิดสูตร ไม่ก่อให้เกิดไขมันทรานส์บ้างแล้ว “ในแง่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เบื้องต้นมองว่าเพิ่มไม่น่าจะถึง 5% แต่ที่น่าห่วงคือ เรื่องรสชาติ ความหอม ความอร่อย ที่ต้องหาสูตรใหม่ ไม่เช่นนั้นผู้บริโภคก็อาจเปลี่ยนใจ”

ด้านบริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า จากการสำรวจบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ พบว่ามีหลายบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายขนมปังหรือเบเกอรี เช่น บมจ.เพรซิเด้นท์ เบเกอรี่ (PB) เจ้าของแบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์ มีรายได้หลักจากขายเบเกอรี 90% ของยอดขาย, บมจ.เอส แอนด์ พี ซินดิเคท (SNP) รายได้จากเบเกอรี 42% ตามด้วย บมจ.อาฟเตอร์ยู (AU), บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) และบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) โดยฝ่ายวิจัยได้สอบถามไปยัง CENTEL, MINT และ AU ได้รับคำตอบว่า การห้ามใช้ไขมันทรานส์ น่าจะกระทบกำไรเล็กน้อย และแต่ละรายมีแนวทางในการปรับสูตรให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากต้นทุนสูงขึ้นก็สามารถผลักภาระไปยังผู้บริโภค โดยการขึ้นราคาขายหรือคงราคาเดิม แต่ปรับลดขนาดและปริมาณลง

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการตรวจสอบวัตถุดิบในการปรุงกาแฟและเครื่องดื่มอเมซอนทุกชนิดจากผู้ผลิต 5 ราย พบว่า 90% ไม่มีวัตถุดิบที่ผลิตจากส่วนผสมของไขมันทรานส์ แต่เพื่อเป็นการยืนยันว่าร้านอเมซอนไม่มีไขมันทรานส์ 100% ทางบริษัทจึงได้ส่งวัตถุดิบทั้งหมดนี้ไปให้หน่วยงานกลางตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้เป้าหมายให้ร้านอเมซอนเป็นกาแฟที่ปราศจากไขมันทรานส์ 100% ภายใน 3-6 เดือนนับจากที่ตรวจพบ

ด้านนางกรรณิการ์ ชินประสิทธิ์ชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสารตราสินค้า บริษัทแบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มีเครื่องดื่มกาแฟบางเมนูใช้นมข้นหวานที่มีกรดไขมันทรานส์ซ่อนอยู่ แม้จะมีหลายเมนูใช้นมสด ก็คงต้องเร่งตรวจสอบพร้อมเปลี่ยนแปลงสูตร ไม่ให้ใช้วัตถุดิบที่มีกรดไขมันทรานส์ในเมนูทุกชนิด

ขณะที่นางสาวอุษณา มหากิจศิริ กรรมการ บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารบริการด่วน “พิซซ่า ฮัท” ในประเทศไทย กล่าวยืนยันว่า พิซซ่าฮัททุกเมนู ทุกหน้า ทุกขอบไม่ว่าจะเป็นแป้งหนานุ่ม แป้งบางกรอบ ขอบชีสหรือขอบไส้กรอกชีส ปราศจากไขมันทรานส์ 100%

นางสาวอุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอนีโอ ประธาน บริษัท คิง ฟูด กรุ๊ป จำกัด ผู้นำเข้าและทำตลาดแบรนด์อาหารและเบเกอรีชื่อดังจากทั่วโลก อาทิ คริสปี้ครีม, ไอฮ็อป, ซินนาบอน, บูลโกกิบราเธอร์ส, พายเฟสซ์ และแจมบาร์จูซ กล่าวว่า ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพมาตั้งแต่เริ่มต้น แม้การเลือกใช้น้ำมัน 0% ทรานส์แฟต (Trans fat) จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 15% ก็ตาม “ไขมันทรานส์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเจ้าของแบรนด์ขนมที่เรานำเข้ามาในไทยยึดหลักการนี้มานานแล้ว แค่บางประเทศไม่เข้มงวดหรือให้งดเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาไทยก็ไม่ได้ห้าม แต่ส่วนตัวให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก อย่างโดนัท
คริสปี้ครีมเบสิก ก็ 0% ทรานส์แฟต จะมีแค่หน้าพิเศษตามเทศกาลต่างๆเท่านั้น อาทิ หน้ามะม่วง โดนัทช็อกโกแลต เป็นต้น ที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ แต่ก็มีไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด แต่จากนี้ก็ต้องปรับเปลี่ยนวัตถุดิบให้ทุกหน้าของโดนัท รวมถึงหน้าพิเศษ และขนมในเครือคิง ฟูด กรุ๊ป เป็น 0% ทรานส์แฟต”

นายปิยะ เชาวภานันท์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวทุกชนิดที่ผลิตในประเทศไทย ประกอบด้วย มันฝรั่งทอดกรอบ “เลย์”, ขนมขึ้นรูป “ตะวัน”, ซันไบทส์, ทวิสตี้, โดริโทส และชีโตส ไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) โดยมันฝรั่งทอดกรอบ “เลย์” ใช้น้ำมันรำข้าว ขณะที่แบรนด์อื่นๆใช้น้ำมันปาล์ม

ด้านบริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ครีมเทียมข้นหวาน นมข้นหวาน และนมคืนรูปปรุงแต่งสเตอริไลซ์ แบรนด์ “เรือใบ” (Ship), นกเหยี่ยว (Falcon) และมายบอย (My Boy) ได้ชี้แจ้งว่า วัตถุดิบน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ครีมเทียมข้นหวาน นมข้นหวาน และนมคืนรูปปรุงแต่งสเตอริไลซ์สำหรับปรุงอาหารและเบเกอรี ภายใต้บริษัทฟรีสแลนด์คัมพิน่า เป็นน้ำมันปาล์มที่ผ่านกระบวนการกลั่นแบบสมบูรณ์ (Fully Refined) ไม่ได้ใช้น้ำมันปาล์มที่ผ่านกระบวนการการเติมไฮโดรเจน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ