สำนักข่าว เทเลกราฟ ของอังกฤษ รายงานว่า ปฏิบัติการพาเด็กๆ นักฟุตบอลเยาวชนทีม ‘หมูป่าอะคาเดมี’ 12 คนและโค้ชออกจากถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ในอ.แม่สาย จ.เชียงราย ทางเหนือของประเทศไทย เป็นการกู้ภัยใต้ดินที่ท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ของไทยก็ได้รับความช่วยเหลือจากนักประดาน้ำที่ดีที่สุดในโลกมากกว่า 90 คน

แต่ผู้ที่เป็นหัวหอกในปฏิบัติการกู้ภัยในถ้ำของไทยครั้งนี้คือพลเรือนชาวอังกฤษ 7 คน ผู้มีประสบการณ์มากมายจากการท่องไปในน้ำเย็นจัดในเหมืองร้างและถ้ำหินอ่อนทั้งในอังกฤษและเวลส์

เวอร์นอน หรือ ‘เวิร์น’ อันเวิร์ธ

เวอร์นอน หรือ ‘เวิร์น’ อันเวิร์ธ
เวอร์นอน หรือ ‘เวิร์น’ อันเวิร์ธ

...

เวอร์นอน อันเวิร์ธ ผู้เคยอยู่ที่เมืองเซนต์ อัลบานส์ แต่ตอนนี้ปักหลักอยู่ในประเทศไทยแล้ว เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่ไปอยู่ในที่เกิดเหตุ เขาเป็นนักดำน้ำมีประสบการณ์ผู้อาศัยอยู่ใกล้ถ้ำแห่งนี้ และเป็นตัวแปรสำคัญในการโน้มน้าวเจ้าหน้าที่ของไทยให้เชิญตัวผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักรเข้ามา

“ตอนที่หน่วยซีลของไทยเข้าไปในถ้ำแต่ไม่เห็นอะไรเลย เพราะน้ำมันขุ่นมาก พวกเขาจึงกลับออกมา” นายชัยยนต์ ศรีสมุทร สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเพื่อนของนายอันเวิร์ธบอกกับสำนักข่าวเดลีเมล “แต่เขารู้จักชาวอังกฤษหลายคนที่สามารถช่วยได้อย่างแน่นอน”

จอห์น โวลันเธน และ ริค สแตนตัน

จอห์น โวลันเธน (เสื้อน้ำเงิน)
จอห์น โวลันเธน (เสื้อน้ำเงิน)

เมื่อได้รับไฟเขียวจากการทางไทย นายอันเวิร์ธก็ติดต่อ จอห์น โวลันเธน ที่ปรึกษาด้านไอทีในเมืองบริสตอล และริค สแตนตัน อดีตเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในเขตมิดแลนด์ให้มาช่วยเหลือทันที โดยทั้งสองคนอยู่ในสังกัดสมาคมกู้ภัยในถ้ำแห่งอังกฤษ (BCRC) ซึ่งรองประธานอย่าง บิล ไวท์เฮาส์ ระบุว่าทั้งคู่คือ ‘เอทีม’ (A Team) หรือนักดำน้ำชั้นยอด

ในที่สุด นายโวลันเธนและนายสแตนตัน ก็ไม่ทำให้ผิดหวังเมื่อพวกเขาเป็น 2 คนแรกที่พบเด็กๆ ทีมหมูป่าและโค้ช ภายในถ้ำหลวง บริเวณเนินนมสาวที่อยู่ห่างจากปากถ้ำราว 2.5 ไมล์เมื่อ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา

ริชาร์ด หรือ ริค สแตนตัน
ริชาร์ด หรือ ริค สแตนตัน

นายไวท์เฮาส์กล่าวในรายการ ‘Today’ ของสถานีวิทยุ ‘Radio4’ เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “ทั้งสองคนได้เป็นหัวหอกในการเข้าถ้ำก็เพราะพวกเขามีทักษะและความเชี่ยวชาญ หนึ่งในสิ่งที่พวกเขาต้องทำเป็นอย่างแรกในการฝ่าเข้าไปคือ การวางเส้นนำทาง เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับออกมาได้และให้คนอื่นๆ ตามเข้าไปได้”

นายโวลันเธนและนายสแตนตันสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองจนกลายเป็นหนึ่งในนักดำน้ำกู้ภัยในถ้ำที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก ทั้งคู่เป็นอาสาสมัครให้กับทีมกู้ภัยในถ้ำเซาท์และมิดเวลส์ (SMWCRT) โดยในปี 2554 พวกเขาทำสถิติโลกการดำน้ำในถ้ำเป็นระยะทางไกลที่สุด โดยเข้าไปในถ้ำทางเหนือของสเปนได้ไกลถึง 5.5 ไมล์ (ราว 9 กม.) ด้วยอุปกรณ์ดำน้ำที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษ

...

โรเบิร์ต ฮาร์เปอร์

โรเบิร์ต ฮาร์เปอร์
โรเบิร์ต ฮาร์เปอร์

ผู้ควบคุมดูแลปฏิบัติการของนักดำน้ำชาวอังกฤษอื่นๆ ในการระบุตำแหน่งของทั้ง 13 ชีวิตในถ้ำหลวงนั้นไม่ใช่ใครอื่น นอกจากนายโรเบิร์ต ฮาร์เปอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโพรงลึกจากเมืองซัมเมอร์เซต วัย 70 ปี ซึ่งเดินทางมายังประเทศไทยพร้อมกับนายโวลันเธนและนายสแตนตัน

หลังจากภารกิจตามหาตัวเด็กๆ เสร็จสิ้น นายฮาร์เปอร์ก็เดินทางกลับเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมาโดยนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาของไทยตามไปส่งถึงสนามบิน และกล่าวขอบคุณนายฮาร์เปอร์ ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างทุ่มเทและมีความเป็นมืออาชีพอย่างมาก

คริส จีเวลล์ และ เจสัน มัลลิสัน

คริส จีเวลล์
คริส จีเวลล์

...

คริส จีเวลล์ และ เจสัน มัลลิสัน เดินทางมาสมทบในปฏิบัติการพาตัวสมาชิกทีมหมูป่า 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง โดยพวกเขาเป็นสมาชิกของ ‘กลุ่มดำน้ำในถ้ำ’ (Cave Diving Group) ซึ่งเป็นสมาคมนักดำน้ำใต้ดินสมัครเล่นที่เก่าแก่ที่สุดในสหราชอาณาจักร

นายจีเวลล์และนายมัลลิสัน ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำในถ้ำแคบๆ โดยนายมัลลิสันเคยช่วยชีวิตนักเดินถ้ำชาวอังกฤษ 6 คนออกจากถ้ำ เคบา เด อัลปาซัต ในประเทศเม็กซิโกมาแล้ว และอยู่ในทีมทำลายสถิติดำน้ำไกลสุดในโลกกับนายวลันเธนและนายสแตนตันด้วย

เจสัน มัลลิสัน
เจสัน มัลลิสัน

ส่วนนายจีเวลล์เป็นสมาชิก BCRC เคยเข้าไปสำรวจถ้ำใหม่ๆ ในอังกฤษและต่างประเทศมาแล้วมากมาย รวมทั้งถ้ำฮัวอัตลา ในเม็กซิโก ซึ่งเป็นถ้ำลึกที่สุดในซีกโลกตะวันตก เขากับสมาชิกคนอื่นๆ ในทีมเข้าไปยังจุดลึกสุดที่ได้ชื่อว่าเป็นจุดลึกลับที่สุดในโลกด้วย

ทิม แอคตัน กับครอบครัว
ทิม แอคตัน กับครอบครัว

...

ทิม แอคตัน

นายทิม แอคตัน นักดำน้ำวัย 39 ปีก็อยู่ในทีมปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่าจากถ้ำหลวงด้วย โดยเขาเติบโตขึ้นที่เมืองฮาร์วิช เริ่มดำน้ำที่ทะเลของมณฑลเอสเซกซ์ ก่อนจะย้ายมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเมื่อ 12 ปีก่อน และตอนนี้เขาเปิดกิจการที่พักกับ ‘ตุ๊ก’ ภรรยาชาวไทยของเขา

เมื่อปี 2547 เขาเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์คลื่นสึนามิพัดถล่มภาคใต้ของประเทศไทย และได้รับการชื่นชมจากเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรในขณะนั้น เพราะเขาช่วยชีวิตคนเอาไว้มากมายในตอนที่หมู่บ้านที่เขาเปิดโรงเรียนสอนดำน้ำอยู่ถูกน้ำท่วม

นายแอคตันได้รับเชิญเข้าร่วมในปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่าหลังจากติดต่อกับหน่วยซีลของไทย และเข้าไปในถ้ำหลวงหลายต่อหลายครั้ง