กองทุนหมู่บ้าน’61 กุญแจไขความจน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กองทุนหมู่บ้าน’61 กุญแจไขความจน

Date Time: 27 มิ.ย. 2561 05:01 น.

Summary

  • “กองทุนหมู่บ้าน” แรกเริ่มเดิมทีผ่านร้อนหนาวมายาวนาน 17 ปีแล้ว มาถึงวันนี้คงไม่มีใครอยากจะไปพาดพิงถึงใคร ...

Latest

“พิชัย”หวังดึงทัพลงทุนญี่ปุ่นกลับไทย  โชว์วิสัยทัศน์บนเวทีฟอรั่มใหญ่ หนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

“กองทุนหมู่บ้าน” แรกเริ่มเดิมทีผ่านร้อนหนาวมายาวนาน 17 ปีแล้ว มาถึงวันนี้คงไม่มีใครอยากจะไปพาดพิงถึงใครว่าเป็นคนสร้าง ไม่อยากจะขอต่อความยาวสาวความยืด

รศ.ดร.นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ย้ำว่า กองทุนหมู่บ้านถูกตั้งมาเพื่อแก้ปัญหาที่แหล่งทุนต้องการให้ชาวบ้านมีแหล่งทุน เวลาที่จะต้องไปกู้เงินกับใคร ก็ต้องมีหลักทรัพย์ กองทุนหมู่บ้านไม่ต้องมีหลักทรัพย์ ใช้คนค้ำประกันได้ อยู่ใกล้ตัว สามารถที่จะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้

แม้กองทุนหมู่บ้านเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นที่พึ่งทางแหล่งทุนพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ก็เกิดกองทุนหมู่บ้านขึ้นทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งเรายอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่ไม่ดี เพราะสามารถทำให้...“คนกู้เงิน” ไปสร้างอาชีพ สามารถทำให้แก้ปัญหา...“หนี้นอกระบบ”

“แทนที่จะไปกู้กับนายทุนอื่น ก็สามารถมากู้กองทุน และให้ผลตอบแทนเป็นสวัสดิการ”

ข้อสำคัญ มาช่วยส่งเสริม “ความดี” ในหมู่บ้านชุมชน เช่น ให้กู้เงินดูจากพฤติกรรมการอดเหล้า อดเหล้าได้นานก็คิดดอกเบี้ยถูก เพื่อทำให้เห็นว่าเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมการอดเหล้า ส่งเสริมคุณความดี

รศ.ดร.นทีเน้นย้ำว่า นั่นคือด้านที่ดีของกองทุนหมู่บ้านและทำได้ดี มีเงินออม เงินฝาก ผลตอบแทนจากเงินกู้ เงินออมไม่ต่ำกว่าสี่หมื่นล้านบาท ที่เกิดจากการลงทุนในการที่รัฐบาลให้ไปเป็นเงินกู้ ยืมเงิน เงินหมุนเวียนต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในอดีตจนปัจจุบันเป็นเวลาสิบเจ็ดปีแล้ว เรายังอยู่และดำเนินการทิศทางนี้อย่างต่อเนื่องกับสมาชิกสิบสามล้านคนกับกองทุนทั่วประเทศ

คำถามที่จะเกิดขึ้นตามมามีว่า หนึ่ง...รัฐบาลจะจัดเงินให้ตลอดเวลาคงเป็นไปไม่ได้ จะเอาเงินไปเพิ่มให้ไปกู้คงเป็นไปไม่ได้ จะทำอย่างไรให้กองทุนหมู่บ้านมีตู้เอทีเอ็มของตัวเอง สามารถสร้างเงินได้

สอง...การทำเหล่านี้มันเป็นประโยชน์หลายบุคคล ใครใส่ใจก็ไปกู้ กู้ก็มาทำของตัวเองเป็นรายบุคคล ทำไมเราไม่ให้เขาทำโครงการเพื่อส่วนรวม เช่น สร้างโรงสีให้ส่วนรวม สร้างโรงไฟฟ้าให้ส่วนรวม...โรงไฟฟ้าตำบล หรืออำเภอ ให้ทุกคนได้ประโยชน์ ให้ทุกคนมาใช้ได้ คนกู้ก็มาใช้ได้ คนไม่กู้ก็มาใช้ได้

สาม...กองทุนหมู่บ้านจะได้สร้างคุณค่ากับประโยชน์ในเรื่องสวัสดิการได้มากยิ่งขึ้น เข้มแข็งขึ้นเพราะว่ามีเงินกลับเข้ามา มีกระบวนกลับเข้ามาก็สร้างประโยชน์ได้มากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น เกิดมีร้านค้า คนรายได้น้อยอาจจะสามารถได้ลดราคา ซื้อของได้ถูกกว่าคนปกติเพราะเป็นการส่งเสริมสวัสดิการช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยโดยเฉพาะ ตรงนี้รัฐบาลก็เลยมองว่า น่าจะให้กองทุนหมู่บ้านเดินอีกมิติหนึ่ง เรียกว่า...มิติตามแนวทาง “ประชารัฐ”

โดยกองทุนหมู่บ้านสามารถมีโครงการของตัวเองได้ แต่ไม่ใช่รัฐไปจัดทำให้ ให้กองทุนหมู่บ้านคิดเอง ซึ่งเราจัดเงินไว้ให้ก้อนหนึ่ง กองทุนหมู่บ้านจะเอาหรือไม่เอาก็ได้ เขาเลือกได้ว่าจะเอาไปให้กู้ หรือจะมาลงทุนในภาพรวม ปรากฏว่า กองทุนหมู่บ้านส่วนใหญ่ต้องการเอาเงินมาทำส่วนรวมมากกว่าขอเงินไปเพิ่มเพื่อให้กู้ เพราะเขามองว่าตรงนี้เกิดประโยชน์ทันที โดยตรงและได้มากกว่า บอกได้เลยว่า...ได้รับความพอใจมากกว่ามิติเดิม

“เราเปิดโอกาสให้เขาคิดเองทำเอง สร้างโครงการเอง โดยเริ่มโครงการนี้เมื่อปี 59 ทดลองให้กองทุนละห้าแสน แต่ไม่ได้ปล่อยเงินไปให้นะ เขาต้องทำเรื่องขอโครงการเข้ามา แล้วโครงการนั้นต้องผ่านประชาคม คือต้องผ่านจาก
คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน ชุมชนเห็นพ้องด้วย ไม่ใช่ว่าใครคนใดคนหนึ่งขอ...

โครงการนั้นจึงจะผ่าน ก็จะโอนเงินเข้าไปกองทุน โดยให้กรรมการกองทุนดูแล กรรมการกองทุนอาจไปตั้งผู้จัดการ หรือใครมาดูแลโครงการเขาก็ได้จากโครงการที่เขาเสนอเข้ามา”

เคยมีคำถามจากนักการเมืองถามว่า โครงการนี้เป็นโครงการประชานิยมใช่ไหม? เราก็อธิบายว่า กองทุนตามแนวทางประชารัฐ คือเราให้เขาทำงานไม่ใช่เอาเงินให้ฟรี จะได้เงินต่อเมื่อทำงาน

“การทำงานคือ การทำโครงการเพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ฉะนั้นคนที่รับเงินต้องมีจิตสาธารณะ มีความพร้อมที่จะตั้งใจทำเพื่อส่วนรวม ใช้เงินเป็นเครื่องมือส่งเสริมคนตั้งใจทำดี อยากทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม นี่คือข้อแตกต่างที่พูดว่าเอาเงินให้ใครก็ได้ และเอาไปแจกใครก็ได้”

ถ้าเป็นกระบวนการ “แจกเงิน” พูดกันตรงๆว่า ส่วนใหญ่แจกกันตอนเลือกตั้ง แต่ตรงนี้รัฐบาลให้มาทุกปี ตั้งแต่ปี 59 ให้ต่อเนื่องทุกปีโดยไม่ได้คิดเลยว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ จะบอกว่า รัฐบาลเอาเงินนี้ไปหาเสียงคงไม่ใช่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกกองทุนจะได้เงิน กองทุนที่ได้เงินต้องมีโครงการและความพร้อม ย้ำว่า...ต้องเป็นกองทุนที่ตั้งใจมีความพร้อม อันนี้แตกต่างจากโครงการ “แจกเงิน” หรือ “ประชานิยม” โดยสิ้นเชิง

สิ่งสำคัญของโครงการที่ยึดถือหลักๆ คือ “ห้ามกู้เงิน” “ห้ามปล่อยให้กู้” “ห้ามซื้อของมาแล้วไปแจกกัน” ห้ามทำโครงการส่วนบุคคล พูดง่ายๆคือโครงการต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เราจะไม่ได้ดูว่าโครงการทำอะไร แต่เราจะดูว่าโครงการนั้นอยู่ในเจตนารมณ์อยู่ในเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ไหม คือ...ทำเพื่อส่วนรวม

“ลดการเหลื่อมล้ำ สร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม แม้จะผ่านประชาคมมาเราก็มีการกลั่นกรองอีกครั้งว่า โครงการนี้ประชาคมต้องการจริงไหมไม่ใช่ประชาคมเทียม...มีประโยชน์จริงและเป็นไปได้จริง ไม่เพ้อฝัน เราเน้นตรงจุดนี้”

ให้รู้กันต่อไปอีกว่า แล้วพื้นที่ไหนที่ “กองทุนหมู่บ้าน” เข้าไปแล้วมีผลตอบสนองที่ชัดเจน? รศ.ดร.นที บอกว่า ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเสนอโครงการมาร้อยละ 90 โดยเฉลี่ย แสดงว่าตอบสนองมาก...ภาคกลาง ภาคตะวันตกจะอยู่ประมาณ 70-80%...ภาคใต้ 50% มีขอเข้ามาเยอะกว่าแปดหมื่นกองทุน

แต่ก็มีหลายกองทุนที่ขอมาแล้วยังไม่ผ่าน เช่น กองทุนยังแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้ ติดเรื่องร้องเรียน งบการเงินยังไม่แสดง ยังมีปัญหาการติดตามหนี้ ยังไม่เรียบร้อย บางกองทุนมีโครงการที่น่าสนใจแต่ก็ไม่ได้รับการโอนเงินเพราะยังมีปัญหาความเข้มแข็งส่วนตัว เหลือกองทุนที่ถูกคัดกรองประมาณ 6 หมื่นกว่ากองทุนที่ได้รับในปี 59

น่าสนใจว่า...ร้อยละ 25 เป็นเรื่องร้านค้าชุมชน กองทุนหมู่บ้าน นับเป็นเรื่องที่เราไม่คาดฝันว่า “ร้านค้า” จะเป็นเรื่องท็อปฮิต ถามว่าทำไม เหตุผลสำคัญก็คือ เขาต้องเดินทางไปซื้อของที่อยู่ไกล ต้องนั่งรถ เสียค่าน้ำมัน
ข้อสำคัญคือ อันตราย ไม่คุ้ม ก็เลยอยากได้ร้านค้าอยู่ใกล้ตัว

“ร้านค้าของเขาจะขายของในราคาถูก ไม่ต้องมีห้องแอร์ การแต่งตัวก็สามารถขายของได้ในราคาที่ต่ำ ชาวบ้านก็สามารถซื้อของในราคาที่ถูกกว่าของที่ซื้อจากที่อื่น นอกจากนี้ ก็สามารถเป็นช่องทางขายสินค้าชุมชน...ส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมการขายของในร้านได้โดยตรง สรุปคือใกล้ ได้สินค้าชุมชนได้ของราคาถูก เงินกำไรกลับมาเป็นสวัสดิการส่วนรวม ข้อสำคัญคือ ร้านค้าเป็นของชุมชน เป็นของสมาชิกทุกคน”

วันนี้มีร้านอยู่ประมาณ 22,000 แห่ง ถ้าทำให้ดีจะเป็นจุดหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี ร้านค้าประชารัฐประมาณรายได้เดือนละ 10,000 บาท ก็เพิ่มเป็นห้าหมื่นบาทและเป็นหนึ่งแสนบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ...

รัฐบาลคิดง่ายๆว่า ถ้ารายได้สองแสนบาทต่อเดือน หนึ่งปีก็ประมาณสองล้าน รวมสองหมื่นกว่าร้านค้า ยอดจะประมาณสี่หมื่นล้านหมุนเวียน โดยที่รัฐไม่ต้องจัดอะไรอีกเลย “นี่คือการหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการจ้างงาน เช่น พนักงานบัญชี พนักงานขาย พนักงานแบกของขนส่ง ผู้จัดการ ประสานงาน เป็นต้น จะเห็นการหมุนเวียนเกิดขึ้นในอย่างน้อยสี่...ห้าเรื่องในร้านค้า”

“กองทุนหมู่บ้าน” ...เป็นของส่วนรวม ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ช่วยกันมาอุดหนุน เพื่อให้กิจการเข้มแข็ง เดินหน้าตามคำขวัญ... “รายได้สู่ชุมชน สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ