ในรอบ 9 ปี ไทยกลับมาใช้โทษประหารชีวิตอีกครั้ง เมื่อ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยฉีดยาพิษนักโทษเด็ดขาดธีรศักดิ์ หรือมิ๊ก หลงจิ ในคดีฆ่าชิงทรัพย์แทงพรุนเหยื่อ 24 แผล

ช่วงที่ผ่านมาได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง เปรียบเทียบกับคดีฆ่าคนตายสะเทือนขวัญที่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย กระทำกับเหยื่ออย่างโหดเหี้ยม แต่บทลงโทษต่างกัน กลับไม่โดนโทษประหาร เกิดคำถามคาใจ...ของหลายคน?

เริ่มจากคดีฆ่าหั่นศพ น.ส.วริศรา หรือแอ๋ม กลิ่นจุ้ย อายุ 22 ปี นำไปฝังดินทิ้งไว้เพื่ออำพรางคดี ซึ่งทั้ง น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย หรือเปรี้ยว รวมถึง น.ส.กวิตา ราชดา หรือเอิร์น และ น.ส.อภิวันทน์ สัตยบัณฑิต หรือแจ้ รอดโทษประหารชีวิต เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีพฤติการณ์ไม่ใช่การฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เป็นการฆ่าโดยเจตนา

คดีนี้ เปรี้ยว และเอิร์น ถูกจำคุกตลอดชีวิต แต่ให้การรับสารภาพจึงลดโทษให้หนึ่งในสาม คงเหลือจำคุก 34 ปี 6 เดือน ส่วนแจ้ จำคุก 33 ปี 9 เดือน ขณะที่นายวศิน นามพรม จำคุก 23 ปี 4 เดือน 20 วัน และ น.ส.จิดารัตน์ พรมคุณ หรือเบนซ์ จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

...

คดีอุ้มฆ่าแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ 'ป๋าลอ' ได้อิสรภาพ

หากย้อนไปในปี 2532 ในคดีเพชรซาอุฯ เมื่อ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ผู้รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ ถูกมอบหมายออกติดตามเครื่องเพชร และจับกุมนายเกรียงไกร เตชะโม่ง ชาวจังหวัดลำปาง โดยให้การว่า ได้ขายเครื่องเพชรให้ นายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชร จากนั้นทีมสอบสวนของ พล.ต.ท.ชลอ พยายามขอให้ส่งเครื่องเพชรคืน แต่นายสันติไม่ยอม จนนำไปสู่มีการนำตัวนางดาราวดี ศรีธนะขัณฑ์ ภรรยาของนายสันติ และ ด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ ไปกักขัง เพื่อสอบเรื่องเพชร ก่อนมีฆ่าปิดปากสองแม่ลูกอย่างโหดเหี้ยม มีการจัดฉากเหมือนอุบัติเหตุรถชนเพื่ออำพรางคดี

คดีนี้แม้ยืดเยื้อมานาน ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสินให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2552 ถูกขังอยู่ในเรือนจำบางขวาง โดยได้รับพระราชทานอภัยโทษหลายครั้ง รวมถึงเข้าเงื่อนไขการพักโทษ มีอายุมาก จึงได้รับสิทธิพิจารณาให้พ้นจากคุก รวมถูกขังกว่า 19 ปี

คดีฆ่าหั่นศพ ในตำนาน "หมอวิสุทธิ์-เสริม"

ส่วนคดีสะเทือนขวัญเมื่อปี 2544 นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ วางแผนฆ่าหั่นศพ พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ภรรยาของตนเอง โดยผสมยานอนหลับในอาหารของ พญ.ผัสพร จนเกิดอาการมึนงง ก่อนนำตัวภรรยาไปขังในห้องพัก อาคารวิทยนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนใช้ของแข็งมีคมฆ่า พญ.ผัสพร และใช้มีดผ่าตัดแล่ชิ้นเนื้ออวัยวะต่างๆ นำไปทำลายในสถานที่ต่างๆ พร้อมทั้งแจ้งความกับตำรวจว่าภรรยาหาย ปลอมหนังสือลางาน และจดหมาย เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจแกะรอยจนพบเบาะแสต่างๆ จนทราบว่า นพ.วิสุทธิ์ เป็นผู้ลงมือฆ่าหั่นศพภรรยา โดยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ได้พิพากษาให้ประหารชีวิต และช่วงที่ นพ.วิสุทธิ์ ถูกขังในเรือนจำได้รับการอภัยโทษหลายครั้ง เนื่องจากปฏิบัติตัวดี และเป็นผู้ต้องขังชั้นเยี่ยม ระหว่างต้องโทษทำประโยชน์ด้วยการช่วยดูแลผู้ป่วย จนในที่สุดได้พักโทษ เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2557 รวมระยะเวลาจำคุก 10 ปี 7 เดือน

คดีฆ่าหั่นศพอีกคดีเมื่อปี 2541 ที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนในยุคนั้น กรณีนายเสริม สาครราษฎร์ นศ.แพทย์ ชั้นปีที่ 2 ในขณะนั้น วางแผนฆ่าหั่นศพ น.ส.เจนจิรา พลอยองุ่นศรี แฟนสาว นศ.แพทย์ชั้นปี 5 เพราะถูกบอกเลิก จึงเกิดความแค้น วางแผนชวนมาที่ห้องพัก เพื่อปรับความเข้าใจ แต่ฝ่ายหญิงไม่คืนดี นายเสริมจึงใช้ปืนยิงศีรษะ น.ส.เจนจิรา จนเสียชีวิต จากนั้นใช้มีดผ่าตัดชำแหละศพ แยกชิ้นส่วนอวัยวะทิ้งลงชักโครก นำกะโหลกศีรษะทิ้งแม่น้ำบางปะกง คดีนี้นายเสริมรับสารภาพ ถูกจำคุกตลอดชีวิต โดยระหว่างอยู่ในเรือนจำนายเสริมปฏิบัติตัวดี ได้รับการอภัยโทษ 5 ครั้ง กระทั่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2554 รวมจำคุก 13 ปี 9 เดือน

ผู้พันตึ๋ง พร้อมสมุน ฆ่าโหด ผู้ว่าฯ ยโสธร

รวมถึงคดี พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือผู้พันตึ๋ง พร้อมลูกสมุน ร่วมฆาตกรรมนายปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร อย่างโหดเหี้ยม ใช้มีดเชือดคอ ปืนยิงศีรษะ ในห้องพักโรงแรมย่านพระราม 9 เมื่อปี 2544 โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุด เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2549 ยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ประหารชีวิตผู้พันตึ๋ง และลูกน้องอีก 2 คน ก่อนได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต และต่อมาผู้พันตึ๋งได้รับการอภัยโทษ 4 ครั้ง กระทั่งได้รับการพักการลงโทษตามเงื่อนไข เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558 และเมื่อออกมาได้ทำผิดเงื่อนไขพักโทษในปี 2559 จึงติดคุกต่ออีก 2 ปี 9 เดือน

...

แทงน้องมะปินชิงมือถือ-ข่มขืนฆ่าน้องแก้ม สุดเหี้ยม

อีกคดีจ้วงแทงชิงไอโฟน นายวศิน เหลืองแจ่ม หรือ ”น้องมะปิน” บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จนเสียชีวิต บริเวณปากซอยสุคนธสวัสดิ์ 27 แขวงและเขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ เมื่อค่ำวันที่ 4 ม.ค.2560 โดยคดีนี้ศาลอุทธรณ์เพิ่งตัดสินไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ลดโทษนายกิตติกร วิดาหะ หรือต้อม จากประหารชีวิต เหลือจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากให้การรับสารภาพโดยละเอียด เป็นประโยชน์ต่อตำรวจและยอมรับผ่านสื่อว่าสำนึกผิด มีเหตุบรรเทาโทษ อย่างไรก็ตามคดีนี้ยังไม่จบ ยังมีต่อในชั้นฎีกา

...

มาอีกคดีสะเทือนขวัญในปี 2557 ”ไอ้เกม” นายวันชัย แสงขาว พนักงานปูเตียงนอนรถไฟ ข่มขืนและฆ่าน้องแก้ม วัย 13 ปี โยนร่างจากขบวนรถไฟลงข้างทาง กระทำอย่างโหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม ศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต และศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ศาลให้เหตุผลว่า แม้จะรับสารภาพ แต่เพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ไม่มีเหตุบรรเทาโทษ จึงประหารชีวิตสถานเดียว โดยไอ้เกมไม่ยื่นฎีกา คดีเป็นที่สิ้นสุด ซึ่งปัจจุบันไอ้เกมยังถูกขังในเรือนจำกลางบางขวาง โดยต้องติดตามว่าจะรอดจากการประหารหรือไม่?

สำหรับการประหารชีวิต มีขั้นตอนปฏิบัติ เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต ศาลจะออกหมายเด็ดขาดให้ประหารชีวิตส่งไปยังเรือนจำ เมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำตัวจำเลยหรือผู้ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตไปทำการประหารชีวิต

เว้นเสียแต่ว่าผู้ต้องคำพิพากษาหรือจำเลยได้ยื่นฎีกาขอให้พระราชทานอภัยโทษ ภายใน 60 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา และเมื่อผู้ต้องคำพิพากษาประหารชีวิตยื่นฎีกาขอให้พระราชทานอภัยโทษ ทางราชทัณฑ์ต้องรอฟังพระราชวินิจฉัย หากมีพระราชวินิจฉัยลงมาให้ยกฎีกา ทางราชทัณฑ์ต้องทำการประหารชีวิตจำเลย หรือผู้ต้องคำพิพากษาประหารชีวิตคนนั้นในทันที

หากมีพระราชวินิจฉัยให้อภัยโทษ ต้องขึ้นอยู่กับว่าอภัยโทษอย่างไร เช่น ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ต้องบังคับโทษไปตามโทษจำคุกตลอดชีวิต และหากภายหลังจำเลย สมควรได้ลดโทษตามวิธีของราชทัณฑ์ จะแปลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี เพื่อนำมาเป็นตัวตั้งในการคำนวณลดโทษต่อไป.