นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ชี้แจงสถานการณ์ราคาสินค้าข้าว ยางพารา และสับปะรด ม.ค.-พ.ค.2561 พบว่าราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ ปี 2561 มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยในช่วง 5 เดือนแรก ข้าวเปลือกหอมมะลิราคาเฉลี่ยตันละ 14,743 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่เฉลี่ยตันละ 9,207 บาท หรือ 60.13% เนื่องจากปริมาณข้าวหอมมะลิออกสู่ตลาดลดลงจากผลกระทบของอุทกภัยในช่วงกลางปี 2560
ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้า ราคาเฉลี่ยตันละ 7,781 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ราว 3.55% ขณะที่ยางพาราปรับตัวลดลง โดย 5 เดือนแรก ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 กก.ละ 43.56 บาท น้ำยางสด กก.ละ 41.46 บาท และยางก้อนถ้วยคละ กก.ละ 20.28 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาลดลง 36-39% แต่คาดว่าแนวโน้มราคายางครึ่งหลังของปีมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับสับปะรด ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 5 เดือนแรก สับปะรดโรงงาน กก.ละ 3.14 บาท ลดลงจาก 6.29 บาท ช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงราว 50.07% สับปะรดบริโภค กก.ละ 3.14 บาท ลดลงจาก 12.28 บาทลดลง 35.26% แต่คาดว่าครึ่งปีหลังราคาจะดีขึ้น โดยขณะนี้รัฐบาลมีโครงการหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือราคาสับปะรด
ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 โดยกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ในอัตรา 880 บาทต่อตัน กำหนดอัตราขึ้นลงที่ 52.80 บาท ขณะที่ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นอยู่ที่ 377.14 บาทต่อตัน ส่วนในเขตคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นที่ 5 กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นที่ 830 บาทต่อตัน ขณะที่ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นอยู่ที่ 355.71 บาทต่อตัน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามใน ครม.ว่า การใช้เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายช่วยชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลจะมีปัญหากับประเทศบราซิลหรือไม่ ซึ่ง รมว.อุตสาหกรรมได้ยืนยันว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด.