กรมราชทัณฑ์ ฉีดยาประหารชีวิต นักโทษคดีฆ่าชิงทรัพย์อย่างทารุณเมื่อปี 2555 ที่ จ.ตรัง 1 ราย หลังคำพิพากษาศาลฎีกายืนเป็นผลให้ถึงที่สุด โดยการนำตัวมาฉีดสารพิษให้ตายเป็นรายที่ 7 หลังจากปี 52
เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 18 มิ.ย. พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 15.00-18.00 น. กรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชาย ธีรศักดิ์ หลงจิ อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 55 เหตุเกิดที่จังหวัดตรัง นักโทษเด็ดขาดดังกล่าวได้ทำร้าย และบังคับให้เอาทรัพย์สิน คือ โทรศัพท์มือถือ และกระเป๋าสตางค์ รวมทั้งใช้มีดแทงผู้ตาย รวม 24 แผล เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้น พิพากษาประหารชีวิตศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาพิพากษายืนเป็นผลให้คดีถึงที่สุด
"การบังคับโทษประหารชีวิตดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ประกอบมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ. 2546 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีการฉีดยา หรือสารพิษให้ตาย นับเป็นผู้ต้องขังรายที่ 7 นับแต่มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2546 ซึ่งเปลี่ยนวิธีการบังคับโทษประหารชีวิตจากการยิงเสียให้ตายเป็นการฉีดสารพิษ" พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังเปิดเผยต่อไปว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 ถึงปัจจุบันมีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว จำนวน 325 ราย โดยแยกเป็น การใช้อาวุธปืนยิง 319 ราย (ยิงรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2546) การฉีดยาสารพิษ 6 ราย (ฉีดสารพิษครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2546 และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2552) การประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย มีโทษ 5 อย่าง คือ ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก และประหารชีวิต แม้หลายประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีอีกหลายประเทศ ที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่เช่นเดียวกับประเทศไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา และจีน เน้นการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย
...
กรมราชทัณฑ์ หวังว่าการประหารชีวิตในครั้งนี้ จะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิด จะก่ออาชญากรรมร้ายแรง หรือกระทำผิดกฎหมาย ได้ยั้งคิดถึงบทลงโทษนี้.