บทสรุปปากท้องของคนไทย 4 ปี ภายใต้การบริหารงานของ คสช. รวยกระจุกที่เจ้าของธุรกิจบางกลุ่ม แต่แรงงานยังตกงานเพิ่ม คนไทยหนี้พอกพูน เพราะหลายธุรกิจยังไม่ฟื้น
ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกปี 2561 สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เพิ่งประกาศเติบโตถึงร้อยละ 4.8 ทุบสถิติโตสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส หรือ 5 ปี
หลายคนเข้าใจว่าเศรษฐกิจดี คนน่าจะมีงานทำมากขึ้น แต่ปรากฏว่าตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้รายงานว่าไตรมาสแรกปี 2561 ว่างงาน 440,000 คน ส่วนเดือน เม.ย.61 มีคนว่างงาน 405,000 คน มากกว่าเม.ย.60 ประมาณ 68,000 คน และมากกว่าปี 2557 เกือบแสนคน
นอกจากนี้ แม้แรงงานไทยมีรายได้เพิ่ม แต่ก็มีรายจ่าย และหนี้ต่อครัวเรือนก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
รายได้คนไทยต่อเดือนต่อครัวเรือนในปี 2560 มี 26,946 บาทต่อเดือน มากกว่าปี 2558 เพียง 31 บาท และมากกว่าปี 2556 ก่อนที่คสช.เข้ามาบริหาร 1,752 บาทต่อเดือน
ส่วนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 280 บาท จาก 21,157 บาทต่อเดือนในปี 2558 เป็น 21,437 บาทต่อเดือนในปี 2560 และเพิ่มขึ้น 2,376 บาท จากปี 2556 ที่มีค่าใช้จ่าย 16,061 บาท
สำหรับหนี้สินต่อครัวเรือน จาก 156,770 บาทต่อครัวเรือนในปี 2558 เพิ่มขึ้น 22,224 บาทเป็น 178,994 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 และเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 15,907 บาท ที่มีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 163,087 บาท
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจขยายตัวแต่ยังคงรวยกระจุกอยู่เพียงบางกลุ่มธุรกิจ จึงยังมีตัวเลขคนว่างงานเพิ่มขึ้น เพราะกลไกดันเศรษฐกิจเติบโตมาจากงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า จึงมีการลงทุนของกลุ่มธุรกิจก่อสร้างมาก นอกจากนี้ยังมาจากการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนกลไกส่งออกก็เป็นการส่งออกรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ใช้เครื่องจักรกันจำนวนมาก
ส่วนกลุ่มโรงงานทอผ้า การเกษตร ประมง ที่ใช้แรงงานคนเป็นหลัก ยังคงติดลบต่อเนื่องมา 5 ปี ดังนั้นความต้องการแรงงานจึงลดลง และแนวโน้มนี้จะกระทบต่อแรงงานไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน
“ในอีก 5 ปีข้างหน้าต้องเร่งหาทางออก เพื่อช่วยแรงงานไทย เพราะปัจจุบันแรงงานไทยเกือบครึ่งการศึกษาไม่สูง เพียงระดับประถม อายุมาก และไม่มีทักษะเฉพาะ ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะนำเครื่องจักร และหุ่นยนต์มาแทนที่มากขึ้นอย่างแน่นอน” นายธนิตกล่าว
4 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลคสช.ที่มีเสียงเด็ดขาด เปลี่ยนรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลงานด้านเศรษฐกิจแล้ว 2 คน จากม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มาเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จีดีพีที่เห็น สะท้อนความสำเร็จจากการดำเนินนโยบายที่เบ็ดเสร็จด้วยการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ออกมาได้สำเร็จ แต่ที่ยังไม่สำเร็จคือ ความรวยยังกระจุก และยังมีตัวเลขที่ว่าคนยังว่างงานเพิ่ม และหนี้ยังพุ่ง ก็เท่ากับว่ายังคงจนกระจายเช่นเดิม