“ศิริราช” วิทยาการทางการแพทย์ล้ำเลิศมาก สามารถปลูกถ่าย 3 อวัยวะ “หัวใจ-ตับ-ไต” ในผู้ป่วยคนเดียวสำเร็จครั้งแรกในเอเชียใช้เวลาผ่าตัดเพียง 12 ชั่วโมง คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เผยเหมือนฟ้าประทานได้รับ 3 อวัยวะจากผู้บริจาคมาพร้อมกันถือเป็นเรื่องยากและมหัศจรรย์จริงๆ ด้าน “รชานนท์” ผู้ป่วย สุดโชคดี มีชีวิตดีขึ้นสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ปวารณาตัวหากร่างกายแข็งแรงจะบวชให้กับผู้บริจาคอวัยวะ
วิวัฒนาการทางการแพทย์ที่สามารถช่วยผู้ป่วยให้มีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เปิดเผยเมื่อเช้าวันที่ 2 พ.ค.ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าว “ศิริราชปลูกถ่าย 3 อวัยวะ หัวใจ-ตับ-ไต สำเร็จในผู้ป่วยรายเดียว...ครั้งแรกในเอเชีย” โดยมี นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผอ.โรงพยาบาลศิริราช นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร รอง ผอ.โรงพยาบาลศิริราช ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายตับและหัวหน้าทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายหัวใจ นพ.ธวัชชัย ทวีมั่นคงทรัพย์ ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายไต และ พญ.ศรีสกุล จิรกาญจนากร อายุรแพทย์โรคหัวใจและปลูกถ่ายหัวใจ พร้อมด้วย นายรชานนท์ รุ่งสว่าง ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และนางโสภา รุ่งสว่าง มารดา ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ร่วมในงานแถลงข่าว
นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ดำเนินการปลูกถ่ายอวัยวะตั้งแต่ปี 2516 ปัจจุบันข้อมูลถึงวันที่ 20 เม.ย.2561 ได้ผ่าตัดปลูกถ่ายไต 1,298 ราย ผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 321 ราย ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ 67 ราย นับเป็นโรงพยาบาลที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะมากที่สุดในประเทศไทย การปลูกถ่ายอวัยวะ ถือเป็นการรักษามาตรฐาน สำหรับผู้ป่วยที่มีการทำงานของอวัยวะต่างๆล้มเหลว ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ส่วนใหญ่การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมักทำเพียง 1 อวัยวะ ให้แก่ผู้รับบริจาค 1 ราย ในผู้ป่วยบางรายมีความจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่า 1 อวัยวะ เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือภาวะตับวาย อาจมีภาวะไตวายร่วมด้วย เป็นต้น การผ่าตัดปลูกถ่ายมากกว่า 1 อวัยวะ สำหรับผู้ป่วยรายนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะช่วยชีวิตของผู้ป่วยได้
...
นพ.ประสิทธิ์กล่าวต่อว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายมากกว่า 1 อวัยวะให้แก่ผู้ป่วยรายเดียวกัน มีการทำมานานแล้วในต่างประเทศ แต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดปลูกถ่าย 2 อวัยวะ เช่น การปลูกถ่ายหัวใจร่วมกับตับ หัวใจร่วมกับไต เป็นต้น ศิริราชพยาบาลเริ่มผ่าตัดปลูกถ่ายมากกว่า 1 อวัยวะให้แก่ผู้ป่วยรายเดียวครั้งแรกในปี 2548 เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ-ไต ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ปัจจุบันทำการปลูกถ่ายไต-ตับอ่อน 10 ราย ตับ-ไต 8 ราย หัวใจ-ปอด 5 ราย หัวใจ-ไต 2 ราย ถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย การปลูกถ่ายอวัยวะทั้ง 3 อวัยวะในรายเดียวสำเร็จถือเป็นสิ่งที่ฟ้าประทานเพราะยากมากที่จะได้ 3 อวัยวะในครั้งเดียว จึงอยากเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันบริจาคอวัยวะ เพื่อต่อชีวิตให้ผู้อื่น ชาวศิริราชทุกคนจะขอสืบสานพระราชปณิธานทำงานเพื่อแผ่นดินต่อไป โดยขอเชิญประชาชนร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุนของ รพ.ศิริราช เพื่อช่วยผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้อย่างเท่าเทียม ได้ที่ศิริราชมูลนิธิ ตึกมหิดลบำเพ็ญ ชั้น 1 โรงพยาบาลศิริราช โทร. 0-2419-7658-60 ในผู้ป่วยรายนี้มีค่าใช้จ่ายกว่า 3 ล้านบาทและเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บางส่วนศิริราชก็นำเงินที่ได้รับจากการบริจาค มาช่วยผู้ป่วยด้วย
ด้าน พญ.ศรีสกุลกล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้อายุ 26 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เนื่องจากความเจ็บป่วย เริ่มเป็นโรคไตตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ระยะแรกสามารถรักษาด้วยยาและควบคุมอาการได้ ต่อมาการทำงานของไต แย่ลงเรื่อยๆจนเป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย รักษาด้วยการฟอกเลือดมาตลอด ระยะหลังผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่ายแม้ออกแรงเพียงเล็กน้อย แน่นท้อง ท้องโต จากการมีน้ำคั่งในช่องท้อง ไม่ดีขึ้นหลังฟอกเลือดและการรักษาด้วยยา จำเป็นต้องได้รับการเจาะระบายน้ำในช่องท้องเป็นระยะๆ ต่อมาตรวจพบว่า ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ภาวะตับแข็งจากภาวะหัวใจล้มเหลว ถูกส่งตัว มารักษาต่อที่คลินิกหัวใจล้มเหลว รพ.ศิริราช เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2560 เพื่อพิจารณาการผ่าตัดปลูกถ่าย อวัยวะหัวใจ-ตับ-ไต ซึ่งทีมแพทย์ได้ประชุมวางแผน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษาอย่างละเอียดก่อนลงมือปลูกถ่ายอวัยวะ
ขณะที่ นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ผู้ป่วยได้รับการ ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ ตับ และไตจากผู้บริจาครายเดียว เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2560 การผ่าตัดดังกล่าวต้องอาศัย ความร่วมมือ การประสานงาน และความพร้อมของทีมผู้รักษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในขณะผ่าตัด และการดูแลหลังผ่าตัด การผ่าตัดใช้เวลาทั้งสิ้น 12 ชั่วโมง 5 นาที เริ่มจากการปลูกถ่ายหัวใจเป็นอย่างแรก ต่อด้วยการปลูกถ่ายตับ และไต ตามลำดับ ระหว่างการผ่าตัด ความดันโลหิตและสภาพร่างกายทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของทีมวิสัญญีแพทย์อย่างใกล้ชิด หลังเสร็จสิ้นการผ่าตัดผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อในหอผู้ป่วยวิกฤติเพื่อพักฟื้น พบว่าหลังผ่าตัดวันแรกอวัยวะที่ปลูกถ่ายเริ่มทำงานได้ ในระดับที่ดี ไม่พบการต่อต้านของหัวใจใหม่จากการ ตรวจชิ้นเนื้อหัวใจ การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ตับ พบว่าตับมีเลือดมาเลี้ยงได้ดี ตับเริ่มมีการทำงานและขจัดของเสียของร่างกายได้ดี จากผลเลือดที่ตรวจ เป็นระยะๆอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
นพ.ยงยุทธกล่าวอีกว่า ผลการตรวจเลือดค่าการทำงานของไตเป็นปกติ ผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2560-23 ก.พ.2561 รวมเป็นเวลา 83 วัน พบว่า ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ผู้ป่วยกลับบ้านโดยปลอดภัย อวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่ายทั้งหมดมีการทำงานเป็น ปกติดี การผ่าตัดปลูกถ่าย 3 อวัยวะเช่นนี้ มีรายงานการผ่าตัดจากทั่วโลกน้อยมาก ตั้งแต่ปี 2532 มีรายงาน การผ่าตัด 14 ราย ในสหรัฐอเมริกา ในทวีปเอเชีย รวมถึงในประเทศไทย ยังไม่เคยมีรายงานการผ่าตัด ปลูกถ่ายหัวใจ-ตับ-ไต มาก่อน ดังนั้น การผ่าตัด ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและทวีปเอเชีย
ส่วน นพ.วิศิษฎ์กล่าวว่า ความสำเร็จในการ ปลูกถ่ายหัวใจ-ตับ-ไต ในผู้ป่วยรายเดียวกันเป็นรายแรกของเอเชียของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช–พยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในครั้งนี้เกิดจากการทำงานร่วมมือกันเป็นทีมอย่างชัดเจน ตั้งแต่ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ วิสัญญีแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา วิชา พยาบาลทุกหน่วยงาน เภสัชกร และเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับ
...
ด้านนายรชานนท์ ผู้ได้รับการผ่าตัดกล่าวว่า เมื่อก่อนตอนเรียนอยากทำกิจกรรมกับเพื่อนก็ทำไม่ได้เพราะทุกคนสงสาร อยากให้ทุกคนมองเราเหมือนคนปกติ เคยคิดอยากฆ่าตัวตาย เพราะไม่อยากเป็นภาระให้กับครอบครัว แต่หลังได้รับการผ่าตัดตอนนี้รู้สึกดีขึ้นมาก ทำกิจกรรม รับประทานอาหาร ดูแลยายได้ และอยากขอบคุณผู้ที่บริจาคอวัยวะให้ และเมื่อตนแข็งแรงดีก็จะขอบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้บริจาคอวัยวะให้ต่อไป