“คาวาซากิ” โรคที่มีชื่อเดียวกับรถมอเตอร์ไซค์แบรนด์ดังแบรนด์หนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วชื่อโรคนี้มาจากชื่อของกุมารแพทย์ชาวญี่ปุ่นนั่นคือ “นายแพทย์โทมิซากุ คาวาซากิ” ซึ่งเป็นผู้พบโรคนี้ในปี ค.ศ.1967

“โรคคาวาซากิ” เป็นโรคที่พบในเด็กเล็ก ตั้งแต่อายุเป็นเดือนๆ ไปจนถึง 2 ขวบ หรือมากสุดไม่เกิน 5 ขวบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบเฉียบพลันของหลอดเลือดแดง เกิดการแทรกซ้อนของหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง ตามด้วยการอุดตัน และนำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจตาย หากไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้คนไข้เสียชีวิตได้

ปัจจัยการเกิดโรค

แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานถึง 50 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคคาวาซากิได้กล่าวถึงปัจจัย 3 ประการที่เป็นตัวทำให้เกิดโรค ดังนี้

1. การติดเชื้อในอากาศบางชนิด เป็นตัวชักนำให้เกิดโรค ซึ่งเชื้อตัวนี้อาจจะเป็นเชื้อเฉพาะที่ยังค้นไม่พบ หรือเป็นเชื้อที่มีอยู่ในบรรยากาศทั่วๆ ไปก็ได้ เป็นเพียงตัวการเริ่มต้นที่ทำให้เด็กป่วยเท่านั้นเอง

2. ภูมิต้านทานของเด็ก ในเด็กเล็ก การตอบสนองเรื่องภูมิต้านทานของเขายังไม่ลงตัว หากมีการติดเชื้อมากระตุ้น ร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ซึ่งบางครั้งก็สร้างมามากเกินไป จนทำให้ย้อนมาทำร้ายตัวเอง

3. พันธุกรรม ร่างกายของเด็กคนนั้น มีความพร้อมที่จะเป็นโรคนี้โดยพันธุกรรม โดยเฉพาะเด็กชาวญี่ปุ่น มีความพร้อมที่จะเป็นโรคนี้มากที่สุด ในเด็ก 100,000 คน มีโอกาสจะเป็นโรคนี้สูงถึง 265 คน แต่สำหรับในประเทศไทย มีโอกาสจะเป็นเพียง 15 คนเท่านั้น

...

อาการ

เด็กจะมีไข้ติดต่อกันประมาณ 5 วันขึ้นไป ในระยะ 2-3 วันแรกจะมีอาการต่างๆ เริ่มปรากฏเพิ่มจากการมีไข้ ได้แก่ ตาแดง ปากแดง ลิ้นแดง มีตุ่มคล้ายผลสตรอเบอร์รี่ ต่อมน้ำเหลืองข้างใดข้างหนึ่งโต หรือทั้งสองข้าง มีผื่นแดงๆ ตามร่างกาย และมือเท้าบวมแดง

การวินิจฉัยโรค

แพทย์จะซักถามอาการ และตรวจร่างกายเบื้องต้น หากเด็กมีอาการอย่างน้อย 4 อย่างที่กล่าวไปข้างต้นก็สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคคาวาซากิ

นอกจากนี้ จะมีการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และอัลตราซาวนด์หัวใจด้วยวิธี Echocardiography ซึ่งจะทำให้ทราบว่าหลอดเลือดหัวใจมีการอักเสบมากน้อยแค่ไหน และยังใช้ในการติดตามผลการรักษาว่าควรต้องให้ยาอะไรต่อหรือไม่อย่างไร

อันตรายของโรค

“โรคคาวาซากิ” เป็นโรคที่มีอันตรายต่อหัวใจ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจมองเห็นอาการแค่ไข้ขึ้นสูง ผื่นแดงตามตัว แต่ภายในร่างกายของเด็กนั้น หลอดเลือดหัวใจกำลังเกิดการอักเสบ โป่งพอง อุดตัน และอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หากไม่ได้รีบรับการรักษาภายใน 10 วัน นับจากวันที่มีอาการ หลอดเลือดหัวใจจะได้รับความเสียหาย และเด็กอาจเสียชีวิตได้

การรักษา

แพทย์จะให้สารภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า “Intravenous immunoglobulin, IVIG” ซึ่งสกัดมาจากน้ำเหลืองของผู้ใหญ่ที่มีความแข็งแรง ยาตัวนี้จะช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนโป่งพอง รวมทั้งรักษาให้อาการทั้งหมดดีขึ้นจนหาย

นอกจากนี้ยังต้องให้ยาแอสไพรินขนาดสูง ขณะที่นอนโรงพยาบาล เพื่อลดการอักเสบ ส่วนตอนกลับบ้านจะให้กินในขนาดต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจได้อีก ทั้งนี้จะต้องกินยาแอสไพรินต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ จึงจะได้ผลการรักษาที่ดี

การป้องกัน

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิด “โรคคาวาซากิ” จึงไม่สามารถคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ได้ ทางที่ดีที่สุดเมื่อเด็กมีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรรีบนำบุตรหลานของท่านส่งโรงพยาบาล เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยด่วน โอกาสในการรักษาหาย ก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย เพราะหากพาไปโรงพยาบาลช้า การรักษาจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร และในอนาคตเด็กอาจจะมีอาการของเส้นเลือดหัวใจตีบตามมา

แม้ว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้จะพบไม่บ่อยนักในประเทศไทย แต่ด้วยสภาวะอากาศของบ้านเราที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนตก ทำให้เด็กๆ ไม่สบายกันได้ง่าย หากพบว่าลูกหลานของท่านมีอาการของโรคคาวาซากิ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาทันที


-------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

ผศ.นพ.สุเทพ วาณิชย์กุล สาขาวิชาโรคหัวใจในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล