ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถาม...

เมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า “ยาฆ่าหญ้า...วัชพืช” ไม่มีหลักฐานว่าอันตรายต่อมนุษย์ และกำลังจะมีคณะอนุกรรมการตัดสินในเดือนนี้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า เป็นเรื่องประหลาดใจเมื่อค้นข้อมูลโดยใช้เวลาไม่มาก ปรากฏว่า มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์มากมาย ทั้งที่มีการติดตามผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีเหล่านี้และเป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการในระดับเซลล์และในระดับยีน

พบตรงกันว่า...สารเหล่านี้มีพิษในระยะยาวและก่อให้เกิดโรคทางสมองที่รักษาไม่ได้ ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม และอาจจะเกี่ยวพันกับมะเร็ง

ในปี 1985 ขณะที่ผมอยู่ที่โรงพยาบาลจอห์นส์ ฮอปกินส์ ได้ฟังการบรรยายจากผู้ที่ค้นพบว่าสาร MPTP สามารถทำให้เกิดโรคพาร์กินสันอย่างเฉียบพลันได้ ทั้งนี้ โดยการสืบสวนจากผู้ป่วยที่ติดเฮโรอีนและได้ไปฉีดเฮโรอีนสังเคราะห์ชนิดใหม่ที่ผลิตขึ้นโดยคนสมองใส โดยที่สารสังเคราะห์ตัวใหม่ปนเปื้อนด้วยสาร MPTP ซึ่งเลือกเจาะจงทำลายเซลล์ประสาทที่บริเวณก้านสมองส่วนบนซึ่งมีหน้าที่สร้าง...“สารโดปามีน”

และสาร MPTP นี่เองมีโครงสร้างเหมือนกับยาฆ่าหญ้าพาราควอต

“การที่มีการทำลายเซลล์สมองที่ตำแหน่งนี้จะทำให้เหมือนกับขาดน้ำมันหล่อลื่นทำให้เกิดอาการแข็งเกร็ง เคลื่อนไหวช้า โดยที่อาจมีอาการสั่นร่วมด้วย และถ้าโรครุนแรงจะถึงกับเคลื่อนไหวไม่ได้”

และ...นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีการเฝ้าติดตามผู้ที่สัมผัสกับยาฆ่าหญ้าชนิดต่างๆตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โดยมีรายงานที่เปรียบเทียบผลจากรายงานที่มีมาก่อนหน้านั้นทางสถิติ และพบว่า ผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าหญ้าและวัชพืชเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคพาร์กินสันเพิ่มขึ้น

...

ในปี 2006 มีการรายงานผลจากการติดตามผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีเหล่านี้ในการติดตามเป็นเวลา 9 ปี และสรุปผลว่ามีความเสี่ยงจากการเกิดโรคพาร์กินสันเพิ่มขึ้นถึง 70% และในเวลาต่อมาได้พิสูจน์ว่าพาราควอตเป็นตัวสำคัญและทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า

ในรายงานจากสมาคมแพทย์ทางระบบประสาทของสหรัฐฯ หลายรายงาน ในปี 2011 โดยที่ 17 ใน 19 รายงาน มีผลสรุปตรงกันว่าเพิ่มความเสี่ยงขึ้น 3 เท่า และในปี 2013 มีการตีพิมพ์รายงานเป็น 100 ชิ้นจากทั่วโลก ซึ่งมีข้อสรุปตรงกันในการเกิดโรคพาร์กินสันเพิ่มขึ้นจากสารเคมีเหล่านี้

รวมทั้งการวิเคราะห์จากรายงานต่างๆเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดโรคพาร์กินสันและการที่มีความเปลี่ยนแปลงในระดับยีน เมื่อมีการสัมผัสหรือปนเปื้อนยาฆ่าหญ้าและวัชพืชในสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า สารเคมีที่ปนเปื้อนเหล่านี้ทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญในการเกิด “โรคพาร์กินสัน”

รายงานสรุปในวารสาร Scientific American 2014 ได้กล่าวถึงกลไกในการทำลายเซลล์ประสาท โดยที่อาจจะเกิดจากการที่มีการสร้างอนุมูลอิสระพิษมากขึ้น และโดยอาจที่ผ่านกลไกในการยับยั้งเอนไซม์ ALDH ซึ่งมีหน้าที่ในกระบวนการเมตาบอลิซึมของไขมัน โปรตีน รวมทั้งของเสียเช่นแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ทั้งนั้น สำหรับคนที่มียีนของ ALDH ผิดแผกแตกต่างกันออกไปยิ่งจะทำให้หน้าที่ในการทำงานเสียยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อไปเจอกับสารเคมีฆ่าหญ้าและวัชพืชเหล่านี้

หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเอนไซม์นี้ คือการสลายพิษของ DOPAL ซึ่งเป็นผลผลิตของโดปามีน และจะเกิดการสะสมมากขึ้นเรื่อยๆจนไปทำลายเซลล์ประสาทที่สร้างโดปามีน

จากการค้นพบดังกล่าว จึงได้มีการศึกษายาฆ่าหญ้า 26 ชนิดที่มีการจำหน่าย โดยที่ 11 ชนิดมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์
ดังกล่าว...โดยที่ 8 ใน 11 ชนิดมีการใช้อยู่ในแถบของแคลิฟอร์เนีย

ซึ่ง...มีผู้ที่เกิดเป็นพาร์กินสันในการศึกษานี้

และอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2011 จนถึง 2018 มีการศึกษาโดยใช้พยาธิตัวกลมซึ่งมีกระจุกประสาทแบบเดียวกันกับคน และพบว่า... “สารพาราควอต” และ “ไกลโฟเสท” มีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์ประสาทที่สร้างสารโดปามีน นอกจากนั้น ในปี 2017 มีการรวบรวมรายงานทั้งหมดในคน...ทำการพิเคราะห์ในเชิงสถิติจากผลงานการศึกษาที่ผ่านมา ถ้าสามารถได้ข้อสรุปชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าหญ้ากับการเกิดโรคพาร์กินสัน

สารพาราควอตถูกแบนใน 48 ประเทศในเอเชียซึ่งรวมทั้งประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตแต่ไม่ให้ใช้ มีการแบนในประเทศลาว เขมร เวียดนาม ศรีลังกา

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ย้ำว่า เรื่องยาฆ่าหญ้าเหล่านี้พวกเราที่เรียนหมอจะเห็นคนตายอย่างทรมานหลายราย ที่พลาดสัมผัสผิวหนังหรือกินโดยอุบัติเหตุและตายทรมานจากเนื้อปอดเป็นพังผืด ตับวายและไตวาย

ต่อมา...มีการใช้โดยให้มีการปกปิดร่างกายมิดชิดแต่ก็ยังมีการสัมผัสผิวหนังและตกค้างอยู่ในไร่นา ในน้ำที่ขัง ชาวไร่ชาวสวนย่ำน้ำที่มีสารปนเปื้อนเหล่านี้

เฉพาะที่จังหวัดหนองบัวลำภู ที่โรงพยาบาลจังหวัดมีคนไข้ 100 กว่ารายในหนึ่งปี และเสียชีวิต 6 รายด้วยขาเน่าและมีติดเชื้อซ้ำซ้อน หลายรายต้องตัดขาทิ้ง

ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีประกาศในปัจจุบันนี้จัดพาราควอต ให้เป็นยาพิษที่ร้ายแรงที่สุดในมนุษย์และไม่มียาแก้พิษ การที่เกษตรกรในสหรัฐฯจะนำไปใช้จะต้องได้รับการอบรมอย่างเข้มงวดและจะต้องมีการขึ้นทะเบียน นอกจากนั้นยังมีการตรวจสอบเป็นระยะ

ถึงตรงนี้...ถ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อต่ออายุหรือไม่ ยังคงประกาศว่าไม่มีหลักฐานถึงอันตรายที่มีต่อมนุษย์ ก็อาจจำเป็นต้องอธิบายว่าทำไมประเทศต่างๆเกือบ 50 ประเทศไม่ให้มีการใช้สารพิษเหล่านี้

...

“จริงอยู่...อันตรายจะลดน้อยลงมากถ้าการใช้มีการระวังขั้นสูงสุดในการปกปิดมิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการสัมผัส แต่ถ้ามีการเลินเล่อ หรืออุบัติเหตุ...จะเป็นอันตรายถึงชีวิตหรือเกิดโรคทางสมองในภายหลังและยังต้องคำนึงถึงการตกค้างสะสมในสิ่งแวดล้อม รวมกระทั่งถึงในพืชผักผลไม้ที่คนไทยทั้งประเทศต้องกินและต้องเผชิญกับโรคที่รักษาไม่ได้เลยในอนาคต”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามทิ้งท้าย
คุ้มแล้วหรือ? และไม่มีวิธีอื่นแล้วหรือ?...ที่ปลอดภัยกว่าทั้งๆที่รู้ว่ามีอันตรายแฝงอยู่ตลอดมาเกือบ 20 ปี.