นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 นั้น ทาง สสช. ได้วิเคราะห์จากฐานข้อมูลจำนวนประชากรของประเทศไทย ปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 67.6 ล้านคน เป็นชาย 33 ล้านคน หญิง 34.6 ล้านคน และมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11.3 ล้านคน หรือ 16.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด วัยทำงานอายุ 15-59 ปี จำนวน 44.60 ล้านคน วัยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 11.60 ล้านคน โดยวัย ผู้สูงอายุยังคงทำงานอยู่ราว 3.9 ล้านคน เพื่อหารายได้เสริมและเลี้ยงครอบครัว เพราะผู้สูงอายุบางคนไม่มีคนดูแล
ทั้งนี้ สสช.ได้ประเมินว่า ในปี 2564 จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วนสูงถึง 20% และในปี 2574 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึง 28% ทั้งในปัจจุบันสัดส่วนวัยทำงานดังกล่าวยังสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ 1 ต่อ 4 คน แต่ในปี 2574 สัดส่วนการดูแลผู้สูงอายุจะเฉลี่ยที่ 1 : 1 เพราะฉะนั้น รัฐก็ต้องวางแผนในการดูแลวัยผู้สูงอายุ และวัยทำงาน รวมถึงวัยเด็ก ที่ปัจจุบันวัยเด็กมีสัดส่วนลดลง เนื่องจากมีการคุมกำเนิด โดยแต่ละครอบครัวเน้นมีลูกคนเดียว ส่วนการออมเงินจะเริ่มมีการออมในช่วงอายุ 50-59 ปี ซึ่งถือว่าผิดหลักการออม ขณะที่อายุระหว่าง 25-40 ปี ที่เป็นวัยที่ต้องออมเงินกลับเป็นวัยที่ใช้เงินจับจ่ายเก่งที่สุด ฉะนั้นต้องเร่งรณรงค์ให้วัยทำงาน มีการออมเงินเพิ่มขึ้น เพื่อเก็บเงินไว้ใช้ในวัยผู้สูงอายุ
“สิ่งที่ภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างมีความสุข ได้แก่ การรณรงค์ให้มีการออมเพื่อชาติในกลุ่มอายุ 25-40 ปี การสนับสนุนให้มีบุตรเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรวัยเด็ก การดูแลสุขภาพและที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ เช่น ห้องน้ำ ต้องเป็นแบบชักโครก มีราวเกาะเพื่อมิให้ล้ม เป็นต้น การส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และการสร้างอาชีพเสริมให้มีรายได้เพิ่ม เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สุขภาพแข็งแรง”.