ขุมทรัพย์ไทยซัมมิท รายได้ปี 59 ทะลุ 6 หมื่นล้าน ฐานแน่นไพร่หมื่นล้าน“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” รุกเคลียร์ตำแหน่งลาออกจากบอร์ดมติชนก่อนลงสนามการเมือง
ความเคลื่อนไหวของนายธนาธร ทายาทธุรกิจหมื่นล้าน ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร ไทยซัมมิท กรุ๊ป ถูกจับตาไม่ต่างจากซุปเปอร์สตาร์ในฐานะนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่ทุกจังหวะรุกคืบนักการเมืองรุ่นเก่ายังตามไม่ทัน
อย่างเช่นในวันพรุ่งนี้ (15 มี.ค.) เพียงแค่จะไปยื่นจองชื่อ จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง นายธนาธรก็ยังเรียกกระแสได้ข้ามวัน ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊กแจ้งขอเชิญพี่น้องสื่อมวลชน ร่วมกินกาแฟช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ ระบุว่าเพื่อปรับทัศนคติทางการเมือง ร่วมพูดคุยเปิดใจกับ “กลุ่มเพื่อนธนาธร” ก่อนที่จะไปยื่นจัดตั้งพรรคการเมืองที่ กกต.ศูนย์ราชการ และยังไม่ลืมสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายว่าขอให้ติดตามเรื่องการเลือกชื่อพรรคอีกด้วย
นอกจากนี้นายธนาธรยังเตรียมพร้อมเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองเต็มตัว ด้วยการลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทต่างๆ โดยวันนี้ (14 มี.ค.) บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า นายธนาธรขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
บริษัท มติชน เป็นเพียงบริษัทสื่อบริษัทหนึ่งใน 3 บริษัทที่ครอบครัวและเครือญาติของนายธนาธรเข้าไปถือหุ้น ซึ่งนายธนาธรไปนั่งเป็นกรรมการบริษัท มติชน เพราะมารดาของนายธนาธร คือนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เข้าไปถือหุ้นร้อยละ 20.07 ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.2556
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2546-2548 นางสมพร ได้เข้าไปถือหุ้นกลุ่มเนชั่น ร้อยละ 15 และค่อยๆ ถือเพิ่มขึ้น จนปี 2553 ก็ขายทั้งหมดร้อยละ 17.87
นอกจากธุรกิจสิ่งพิมพ์แล้ว ธุรกิจทีวีที่เครือญาตินายธนาธรเข้าไปถือหุ้นอยู่ปัจจุบันคือ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่อง 3 ที่ลูกพี่ลูกน้อง คือนายทวีฉัตร จุฬางกูร ถือหุ้นร้อยละ 5.02 และนายทวีฉัตร และน้องชาย คือนายณัฐพล และอา คือนายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ยังถือหุ้นในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) รวมกันร้อยละ 28.54
เท่ากับนายธนาธรมีเครือญาติ และแม่ที่ถือหุ้นอยู่ในสื่อ 3 แห่งในปัจจุบันคือ เครือ นสพ.มติชน กลุ่มช่อง 3 จำนวน 3 ช่อง และช่องเครือแกรมมี่อีก 2 ช่อง แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่าโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและรวดเร็วที่นายธนาธรใช้ได้อย่างเต็มที่
...
สำหรับการถือหุ้นนั้น ปรากฏข้อมูล ณ วันที่ 5 เม.ย.2560 ชื่อนายธนาธรถือหุ้นใน บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ อันดับที่ 16 จำนวน 30.06 ล้านหุ้น สัดส่วนร้อยละ 1.09 โดยจนถึงวันที่ 14 มี.ค.2561 ยังไม่มีการรายงานการขายหุ้นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ขณะที่กลุ่มธุรกิจของครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจ ที่มีอยู่ปัจจุบัน อยู่ในระดับหลายหมื่นล้าน ที่ไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้อาณาจักรไทยซัมมิท ซึ่งมีนางสมพรเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักนั้น ปรากฏชื่อกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ที่ค้นเจอในฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 13 มี.ค.2561 มีประมาณ 40 บริษัท ส่วนใหญ่ทำธุรกิจเกี่ยวกับชิ้นส่วนรถยนต์ มีบางบริษัทปิดกิจการไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังดำเนินกิจการอยู่ โดยมีนางสมพรเป็นกรรมการเกือบทุกบริษัท และมี 10 บริษัทมีชื่อของนายธนาธรเป็นกรรมการด้วย
เมื่อรวมรายได้ของบริษัทในกลุ่มไทยซัมมิท พบว่าปี 2559 มีรายได้รวม 60,687 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 3,852 ล้านบาท
บริษัทที่ทำรายได้มากที่สุด 3 อันดับแรกในปี 2559 คือ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตโมทีฟ จำกัด ทุนจดทะเบียน 700 ล้านบาท รายได้ 9,199 ล้านบาท กำไร 53 ล้านบาท บริษัท ไทยซัมมิท พีเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทุนจดทะเบียน 700 ล้านบาท รายได้ 8,543 ล้านบาท กำไร 313 ล้านบาท และบริษัท ไทยซัมมิท มิทชูบะอีเล็คทริค แมนูแฟคเจอริ่ง ทุนจดทะเบียน 630 ล้านบาท รายได้ 6,328 ล้านบาท และกำไร 454 ล้านบาท.