ครม.สั่งเก็บภาษี ณ ที่จ่าย15% ออกกฎหมาย 2ฉบับคุมเข้ม"สินทรัพย์ดิจิทัล"

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ครม.สั่งเก็บภาษี ณ ที่จ่าย15% ออกกฎหมาย 2ฉบับคุมเข้ม"สินทรัพย์ดิจิทัล"

Date Time: 14 มี.ค. 2561 09:40 น.

Summary

  • ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนด 2 ฉบับ กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ชี้ไม่ปิดโอกาสทำธุรกิจ แต่ไม่ต้องการให้เป็นช่องโกงประชาชน พร้อมกำหนดเพดานจัดเก็บภาษีสูงลิ่ว หัก ณ ที่จ่าย 15%

Latest

ปลดล็อกเรื่องภาษี!

ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกำหนด 2 ฉบับ กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ชี้ไม่ปิดโอกาสทำธุรกิจ แต่ไม่ต้องการให้เป็นช่องโกงประชาชน พร้อมกำหนดเพดานจัดเก็บภาษีสูงลิ่ว หัก ณ ที่จ่าย 15% ระบุอยู่ระหว่างส่งร่างให้กฤษฎีกาตรวจแก้ ก่อนส่งกลับให้ ครม.อนุมัติสัปดาห์หน้า กำหนดผู้เกี่ยวข้อง ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล-โบรกเกอร์-ผู้ค้าต้องมาลงทะเบียนทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ ที่รัฐบาลจะนำมากำกับดูแลและควบคุมการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี หรือการสร้างเงินสกุลดิจิทัล ตลอดจนการกำกับดูแลการระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัล ที่เรียกว่าไอซีโอ (Initial Coin Offering : ICO) ได้แก่ ร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ที่นำเสนอโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และร่าง พ.ร.ก. ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ...(การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) ที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งมีการตั้งเพดานสูงสุดในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย 15% อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่มีความละเอียดอ่อน เพราะมีบริษัทเอกชนจำนวนมากมีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ประชุม ครม.จึงมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ไปตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมาดูแล โดยเฉพาะการกำหนดคำนิยามของเงินสกุลดิจิทัล

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลมีการแพร่หลายมากขึ้น รัฐบาลจึงมีความเป็นห่วงว่าจะเป็นช่องทางที่จะสามารถฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน และใช้ในการฟอกเงินได้ จึงกำหนดให้มีกฎหมายออกมาดูแล โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการตรวจแก้ถ้อยคำ และจะนำรายละเอียดของข้อกฎหมายนำเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติในสัปดาห์หน้า

“หลักการของร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จะกำกับดูแลธุรกรรมเงินดิจิทัล เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกฉ้อโกงและหลอกลวง แต่ในขณะเดียวกันจะไม่ปิดโอกาสในการทำธุรกิจ และเมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาแล้ว จะมีเรื่องการจัดเก็บภาษีรายได้ที่เกิดจากสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่กันไป แต่แยกเป็นกฎหมายคนละฉบับ โดยร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จะเปรียบเหมือนเป็นกฎหมายแม่ จากนั้นจะมีกฎหมายลูกที่ออกโดยกระทรวงการคลังและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.”

ทั้งนี้ หนึ่งในหลักการของร่าง พ.ร.ก.กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านนี้ ทั้งศูนย์การซื้อขายเงินดิจิทัล ซึ่งถือเป็นตัวกลาง นายหน้าหรือโบรกเกอร์ ผู้ค้าหรือดีลเลอร์ จะต้องมาลงทะเบียนเพื่อให้รู้ว่าใครเป็นใครและรัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้จากใคร ส่วนการจัดเก็บภาษีในหลักการขึ้นอยู่กับเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลแบบไหน สมมติมีการซื้อขายกันและเกิดกำไรขึ้นก็ต้องเสียภาษีเหมือนกรณีทั่วไป เช่น เหรียญโทเคนหรือคอยน์ หากซื้อขายกันมีกำไรก็ต้องเสียภาษี หรือสินทรัพย์ดิจิทัลก็คล้ายๆกับหุ้นกรณีจ่ายปันผลก็จะต้องเสียภาษี พูดง่ายๆก็คือให้ทุกอย่างเท่าเทียมกับการค้าอื่นๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเพิ่มเติมว่า ในหลักการร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวล รัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ...(การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) ได้กำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัลในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรไว้ดังนี้ โดยทรัพย์สินดิจิทัล หมายถึง 1.คริปโตเคอเรนซี 2.โทเคนดิจิทัล 3.ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ รมว.คลังประกาศกำหนด ขณะที่ “คริปโตเคอเรนซี” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีราคาหรือมูลค่าอันถือเอาได้ โดยเป็นการตกลงหรือยอมรับระหว่างบุคคลในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด โดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีการอ้างอิงเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ใด ส่วนโทเคนดิจิทัล หมายความว่า หน่วยแสดงสิทธิในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด ทั้งนี้ ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ

นอกจากนี้ ได้เพิ่มประเภทย่อยของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากรอีก 2 ประเภทสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล ได้แก่ เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้จากทรัพย์สินดิจิทัล ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน (Capital Gain) รวมทั้งกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% สำหรับเงินได้พึงประเมิน โดยผู้มีเงินได้ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินการได้รวดเร็ว ซึ่งนอกจากช่วยดูแลประชาชนแล้ว ยังสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ