คืนเงินประกันอีก 1,364 ล้าน ผิดเงื่อนไขบริการโครงข่าย บอร์ดถกด่วนรับมือเจ้าอื่น
“ติ๋ม ทีวีพูล” เฮ ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ กสทช. คืนเงินค้ำประกันพันกว่าล้านบาท เหตุไม่ปฏิบัติตามสัญญา เจ้าตัวพอใจ หลังทุกข์หนักหลายปี ระบุหลายคนเกือบฆ่าตัวตาย เตรียมอุทธรณ์ต่อขอค่าเสียหาย 700 ล้านบาท ขณะที่ “ฐากร-นที” เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลปกครอง ถือเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ที่ต้องการคืนใบอนุญาตได้ กสทช.ก็ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย เตรียมเสนอบอร์ดพิจารณาจะอุทธรณ์หรือไม่ ขณะที่ “วิษณุ” เรียก กสทช.-ผู้รับใบอนุญาตทีวี ถกเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนออกคำสั่ง ม.44 ช่วยเหลือต่อไป
หลังจากนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือติ๋มทีวีพูล ที่ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต่อศาลปกครอง กรณีการขอยุติการประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล มาตั้งแต่ปี 2558 ในที่สุดเมื่อวันที่ 13 มี.ค. ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาในคดีที่ บริษัท ไทยทีวี จำกัด โดยนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช.เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลของบริษัทไทยทีวี เป็นโมฆะทั้งหมด และเพิกถอนหนังสือ กสทช.ฉบับลงวันที่ 28 พ.ค.2558 ฉบับลงวันที่ 5 มิ.ย.2558 ที่ให้บริษัทไทยทีวีชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่งวดที่สองและฉบับลงวันที่ 22 มิ.ย.2558 ที่ยกเลิกให้บริษัทไทยทีวีได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่พร้อมกับให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ให้ใช้คลื่นความถี่ และให้สั่ง กสทช.คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำนวน 16 ฉบับ
ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า การที่ กสทช.ไม่สามารถดำเนินการให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินระบบดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศให้แล้วเสร็จก่อนจัดการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล เป็นเหตุให้บริษัทไทยทีวีฯ เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ตามประกาศสำนักงาน กสทช. และเป็นผู้ชนะประมูลและได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ประกอบกิจการโทรทัศน์ 2 ช่องคือ ไทยทีวี และโลก้า ไม่สามารถถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลได้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ตามประกาศเชิญชวนของสำนักงาน กสทช. และตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ เมื่อกสทช.และสำนักงาน กสทช.ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมาย บริษัทไทยทีวีมีสิทธิบอกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ทั้งสองช่องรายการ
เมื่อบริษัทไทยทีวีบอกเลิกใบอนุญาตแล้วจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือไม่เห็นว่า เมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่าบริษัทไทยทีวีมีสิทธิบอกเลิกใบอนุญาตฯแล้ว และบริษัทได้ดำเนินการชี้แจงการยุติการให้บริการให้ประชาชนได้รับทราบผ่านหน้าจอโทรทัศน์ทั้งสองช่องรายการตลอดวันเป็นเวลา 30 วัน ตามหลักเกณฑ์ของ กสทช.แล้วจึงมีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งก็บัญญัติว่าเมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ส่วนเป็นการงานที่ได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การจะชดใช้คืนทำได้ด้วยเงินตามควรค่าแก่การนั้นๆหรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทนก็ให้ใช้ตามนั้น ดังนั้นบริษัทไทยทีวีฯต้องคืนคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตให้ กสทช. โดยไม่มีสิทธิเผยแพร่ออกอากาศรายการโทรทัศน์ทั้ง 2 ช่องอีกต่อไป และต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในงวดที่ 2 รวม ดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่ได้ดำเนินการไปก่อนการบอกเลิกใบอนุญาตในวันที่ 25 พ.ค.2558 เป็นเงิน 288,472,000 บาท แก่ กสทช.
ส่วนหนังสือค้ำประกันธนาคารกรุงเทพ ลงวันที่ 10 ก.พ.2557 จำนวน 16 ฉบับ เป็นการค้ำประกันชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแต่ละงวดๆนั้น เมื่อการบอกเลิกสัญญาเป็นไปโดยชอบแล้วก็ไม่จำเป็นต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหลังการบอกเลิกสัญญาในงวดที่เหลือ นับแต่วันที่ 25 พ.ค.2558 ดังนั้น กสทช.ย่อมไม่มีสิทธิยึดหน่วงหนังสือคํ้าประกันดังกล่าวไว้ พิพากษาให้คืนหนังสือค้ำประกันที่เกินงวด 1, 2 ให้กับบริษัทไทยทีวีฯ หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้จำนวนเงินตามหนังสือค้ำประกันที่ไม่สามารถคืนได้ให้กับบริษัทไทยทีวีฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุด และคืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน ตามส่วนการชนะคดีให้แก่บริษัทไทยทีวีฯ
สำหรับที่บริษัทไทยทีวีขอให้ กสทช.ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 713,828,282.94 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น ศาลเห็นว่าการดำเนินการล่าช้าของ กสทช.ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทไทยทีวีฯ ประสบภาวะขาดทุน แต่ความเสียหายเกิดขึ้นมาจากการดำเนินธุรกิจปกติ กสทช.จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้
ต่อมานางพันธุ์ทิพาให้สัมภาษณ์หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า พอใจที่ศาลชี้ว่า กสทช.ทำผิดจริง ทำให้คนทั้งประเทศรู้ว่า กสทช.ทำผิดจริง ศาลให้ กสทช.คืนแบงก์การันตีให้บริษัทไทยทีวีในงวดที่ 3, 4, 5 และ 6 มูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท แต่ศาลไม่ได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 700 ล้านบาทตามที่ขอไป จึงจะยื่นอุทธรณ์เพิ่มเติมในส่วนนี้ มั่นใจว่ามีเอกสารที่ชี้ให้เห็นว่า กสทช.ทำผิดสัญญาจนทำให้เกิดความเสียหาย
“เราไม่ใช่คนที่ไม่เก่ง ไม่ใช่คนที่อ่อนแอ หรือไม่มีสายป่านขาดทุนแล้วจึงเลิก แต่เชื่อว่าตัวเองเป็นคนเก่ง มีความสามารถ เพียงแต่สิ่งที่ กสทช.ทำไม่ได้เอื้อและเป็นอุปสรรคจนทำให้เกิดความเสียหาย ประวัติการทำธุรกิจเกือบสี่สิบปีไม่เคยขาดทุนแม้แต่บาทเดียว ทำไมเราจึงจะมาโง่วันนี้ กลายเป็นคนมองธุรกิจไม่เป็น อ่อนแอเป็นเรื่องที่กระทบภาพลักษณ์มาก การสู้วันนี้ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่สู้เพื่อประชาชน ตอนนี้ช่องอื่นๆก็ลำบากหมด บางคนครอบครัวแตกแยกถึงขนาดเกือบฆ่าตัวตาย ล้วนเกิดจากการกระทำของ กสทช.ทั้งสิ้น ถือว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง และแม้ กสทช.ชุดที่อนุมัติเรื่องทีวีดิจิทัลจะพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ใครทำกรรมอะไรไว้ก็ต้องรับผลกรรมนั้น” นางพันธุ์ทิพากล่าว
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 14 มี.ค. นำคำตัดสินของศาลปกครองที่ให้บริษัท ไทยทีวี จำกัด เจ้าของสถานีทีวีดิจิทัลช่อง 14 และช่อง 17 สามารถคืนใบอนุญาตได้ ไม่ต้องชำระค่าประมูลงวดที่ 3 เป็นต้นไป เนื่องจากได้ยุติการประกอบกิจการแล้วนั้น ให้บอร์ด กสทช.รับทราบและพิจารณาต่อไป ส่วนจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ เป็นอำนาจของบอร์ด กสทช. แต่ส่วนตัวเห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลปกครอง เพราะเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สามารถคืนคลื่นความถี่ คืนใบอนุญาตได้ เมื่อยุติการประกอบกิจการ ขณะเดียวกัน กสทช.ก็ไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะผู้รับใบอนุญาตไม่สามารถเรียกค่าเสียหายจาก กสทช.ได้ เชื่อว่าหลังจากนี้ อาจมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลอีกหลายช่อง ขอคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลอีก และส่วนตัวจะไม่ยื่นอุทธรณ์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมติบอร์ด กสทช. ส่วนเมื่อศาลให้คืนเงินค่าประมูลตั้งแต่งวดที่ 3-6 นั้น กสทช.ก็คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ วงเงิน 1,364 ล้านบาท ให้ธนาคารกรุงเทพไป
เช่นเดียวกับ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. กล่าวว่า ทราบคำตัดสินของศาลปกครองเบื้องต้นแล้ว และจะนำคำตัดสินของศาลในคดีดังกล่าวมาหารือในคณะอนุกรรมการกิจการกระจาย เสียงและกิจการโทรทัศน์ว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ และต้องพิจารณาว่าคำตัดสินของศาลจะเป็นบรรทัดฐานในกรณีอื่นๆหรือไม่อย่างไร โดยส่วนตัวถือเป็นทางออกที่ดี เป็นการช่วยเหลือเอกชน แต่ก็ต้องพิจารณาคำตัดสินของศาลอย่างละเอียด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญ กสทช.ตัวแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล หารืออีกครั้งเกี่ยวกับ แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล รัฐบาลจะออกเป็นคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล อาทิ การเลื่อนการชำระค่าประมูลทีวีดิจิทัล ออกไป 3 ปี กสทช.สนับสนุนค่าใช้เช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี เป็นต้น ซึ่งการพิจารณาครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย และคาดว่า คสช.จะออกประกาศ ม.44 ภายในเดือน เม.ย.นี้
สำหรับ บ.ไทยทีวี ที่มี ติ๋ม-พันธุ์ทิพา เป็นเจ้าของ ได้ชนะประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อเดือน ธ.ค.2556 จำนวน 2 ช่องคือ ไทยทีวี ช่อง 17 ประเภทข่าวและสาระ วงเงินประมูล 1,328 ล้านบาท และโลก้า ช่อง 15 ประเภทรายการเด็กและเยาวชน วงเงินประมูล 648 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,976 ล้านบาท บ.ไทยทีวีชำระค่าประมูลไปแล้ว 2 งวด รวมวงเงิน 611.20 ล้านบาท ทั้งนี้ บ.ไทยทีวีได้ออกอากาศทีวีทั้งสองช่องตั้งแต่เดือน เม.ย.2557 เป็นต้นมา แต่เมื่อเดือน พ.ค.2558 เป็นเดือนที่ครบกำหนดต้องชำระค่าประมูลงวดที่ 3 วงเงิน 358.20 ล้านบาท ทาง บ.ไทยทีวีไม่มาชำระ แต่ได้ยื่นฟ้องร้องศาลปกครองเพื่อขอยุติการออกอากาศ และได้ยุติออกอากาศหรือจอดำทั้งสองช่องในเวลา 00.01 น. วันที่ 1 พ.ย.2558 จนถึงปัจจุบัน